** รัฐลุยแก้วิกฤติแรงงาน
** ผวา!เลิกจ้าง 2 แสนคน
"อุไรวรรณ"เข็นแผนรับมือวิกฤติแรงงาน ชงครม.ของบฯ 1.5 พันล้าน จ้างบัณฑิตอาสา แจกฟรีคนตกงานหัวละ 1 พันบาท ระบุยอดถูกปลดเฉลี่ย 1.5 หมื่นคน/เดือน หอการค้าฯยอมรับหากลดการผลิตอาจเลิกจ้าง 2 แสนคน จี้รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงิน 5 หมื่นล้านช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี "โอฬาร"ยันญี่ปุ่นเศรษฐกิจถดถอย ไม่กระทบแรงงานไทย
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.51 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จะหารือกับ นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 พ.ย.นี้ เพื่อเสนอของบประมาณจำนวน 1,536 ล้านบาท จากเงินงบกลางปี 1 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการเลิกจ้างงาน โดยคาดว่าจะช่วยเหลือและแก้ปัญหาคนว่างงานได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คนส่วนหนึ่งจะทำให้มีการจ้างงานตามโครงการบัณฑิตอาสา 7,000 คน นอกจากนี้ จะเสนอรองนายกรัฐมนตรีจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ตกงาน ตามข้อเสนอขององค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย จัดงบฯ อุดหนุนคนว่างงานคนละ 1,000 บาท
"งบประมาณที่ขอไป 1,536 ล้าน เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานโดยตรง คิดเป็น1.5% ของงบฯ แสนล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร รวมถึงขยายเงินชดเชยกรณีว่างงานจาก 6 เดือนเป็น 8 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงาน" นางอุไรวรรณกล่าว
สำหรับข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เดือน ม.ค.-ส.ค.51 พบว่ามีลูกจ้างทั่วประเทศถูกเลิกจ้างงาน 127,238 คน จากสถานประกอบการ 11,598 แห่ง คิดเป็นเฉลี่ยคนถูกเลิกจ้าง 15,905 คน/เดือน ส่วนข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ม.ค.-10 พ.ย.51 มีสถานประกอบการเลิกจ้างแล้ว 137 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 15,152 คน และสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 5,338 คน
นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานไทยที่ทำงานให้กับโรงงานของญี่ปุ่น ที่ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งใช้เพียงแรงงานที่มีฝีมือ และเชี่ยวชาญ ทำให้การปลดคนงานน่าจะมีน้อยมาก และยังไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกและการเจรจาขอกู้เงินจากญี่ปุ่น แต่ในทางกลับกันจะช่วยเร่งให้ญี่ปุ่นปล่อยกู้แก่ไทยเร็วขึ้น
ขณะที่การลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และเหล็กที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรของไทย และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการวิจัย และพัฒนายานยนต์
ด้าน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่น่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสิ่งทอ และอาหารไปญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากจีนยังมีปัญหาเกี่ยวกับอาหารปนเปื้อน ทำให้ญี่ปุ่นหันมานำเข้าสินค้าจากไทยแทน ส่วนการลงทุนโดยตรงไทยยังเป็นประเทศหลักในภูมิภาคที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจ เนื่องจากเวียดนามมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีมองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะขณะนี้ต้องดูปัจจัยภายนอกเป็นหลัก และต้องระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ว่าจะปรับไปเป็นใครก็ตาม ควรจะต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปี 52 ที่คาดว่าจะมีปัญหาการว่างงาน และเลิกจ้างมากขึ้น รวมถึงปัญหาสภาพคล่องในระบบ
ขณะที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการหารือร่วมกันระหว่างหอการค้าไทยและญี่ปุ่น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาและอุปสรรคที่ไม่ใช่ปัญหาด้านภาษีที่มีต่อการซื้อขายหลังจากลงนามร่วมกันเช่น การพัฒนาฝีมือแรงงาน แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ไทยสรุปสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นต่างเข้าใจในพื้นฐานเศรษฐกิจและการเมืองอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าปัญหาความไม่ชัดเจนทางการเมือง อาจมีผลต่อการตัดสินใจด้านการลงทุนของญี่ปุ่นบ้าง โดยเป็นเพียงการชะลอดูสถานการณ์ก่อน แต่ระยะยาวก็ยังเดินหน้าลงทุนต่อไป
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ระบุว่า การที่ญี่ปุ่นออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 3 ของตลาดหลัก ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย หรือคิดเป็นมูลค่าปีละ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อลดลงและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทย
ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกในปีหน้าจะทำได้ลำบากมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในระดับ 10% ส่วนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวได้อย่างเร็ว 1ปี ถึง 1 ปีกว่า แต่ย่อมขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นเองด้วย ขณะที่ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิต แต่ไม่ถึงขั้นอยากให้ลดการจ้างงานลง หากมีความจำเป็นจริงก็อาจจะลดลงราว 2 แสนคน รวมทั้งรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยนำเงิน 50,000 ล้านบาท มาปรับปรุงขบวนการผลิตทั้งระบบ