เมืองคอนผุดวิธีแก้มังคุดราคาดิ่ง
สถานการณ์ การผลิตมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีพื้นที่ปลูกมากถึง 103,113 ไร่ นับเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ให้ผลผลิตในฤดูเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 ตัน แต่เกษตรกรชาวสวนมังคุด ก็ยังต้องพบกับ ปัญหาปัจจัยการผลิตมีราคาแพง ขาดแรงงาน ผลผลิตคุณภาพต่ำ ศัตรูพืชระบาด ราคาผลผลิตต่ำ ถูกกดราคา ผลผลิตล้นตลาด ที่ผ่านมาราคามังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราชตกต่ำลงถึงกิโลกรัมละ 2-3 บาท จนถูกทิ้งให้เน่าเสียไปอย่างไร้ค่า เกษตรกรชาวสวนผลไม้มีการรวมตัวเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหลายครั้ง จนถึงขั้นขนมังคุดและผลไม้อื่น ๆ มาเททิ้งบนถนนราชดำเนิน หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมาแล้ว ซึ่งปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำนับว่าเป็นปัญหาที่วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่ตลอดไป
แต่ใช่ว่าจะหมดหนทางแก้ไขไปเสียทีเดียว หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนรวม ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนไม้ผล บริษัทเอกชนและส่วนราชการภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้นำประเด็นปัญหา และศักยภาพมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน กำหนดแนวทางในการพัฒนา และแก้ไขปัญหามังคุดอย่างเป็นระบบ ซึ่งคาดว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายโกสิทธิ์ อ่องวุฒิวัฒน์ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เรื่องการแก้ไขปัญหามังคุดและไม้ผลอื่น ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรม การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตระดับจังหวัด เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในเชิงรุกระยะยาว และจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ 2552 ในการพัฒนาด้านไม้ผล เป็นเงิน 2,774,500 บาท และจากการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้นของเกษตรกร ทำให้เกิดเป็นแนวทางการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้ประชุมหารือกันบ่อยครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์ คาดคะเนผลผลิต และพยากรณ์ภาวะตลาด รวมทั้งการจัดหาตลาดล่วงหน้า 2.การพัฒนาเกษตรกรรายย่อย โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเสริมแนะนำการผลิตมังคุดคุณภาพดี ตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จนได้รับใบรับรอง GAP และเครื่องหมาย Q จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี 3.การพัฒนาการรวมกลุ่ม โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล ชมรมชาวสวนไม้ผล สมาคมชาวสวนไม้ผล และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนไม้ผล เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน จัดฝึกอบรม และทัศนศึกษาดูงาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการตลาด 4.การสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และโรงเรือน โดยที่สำนักงานเกษตรจังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างอาคารศูนย์รวบรวมผลผลิตมังคุดเพื่อการส่งออก จำนวน 10 ศูนย์ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ ได้แก่ ตะกร้า เครื่องชั่ง เครื่องเป่าลม ฯลฯ เพื่อบริการรวบรวมผลผลิตของสมาชิก และคัดแยกเกรดก่อนส่งจำหน่าย 5.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิต (War Room) ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร และการประสานงานในการแก้ไขปัญหาผลผลิตมังคุด และพืชผลการเกษตรอื่น ๆ 6.นำประธานกลุ่ม ชมรม สมาคม และวิสาหกิจชุมชน ทัศนศึกษาดูงาน เรื่องการผลิตมังคุดครบ วงจร ณ จังหวัดจันทบุรี และนนทบุรี เมื่อวันที่ 8-11 มิถุนายน 2552 เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ประสบการณ์ และเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนโดยตรง 7.การผลิตมังคุดนอกฤดูกาล เป็นศักยภาพของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะซีกตะวันออกของเทือกเขาหลวง ตั้งแต่อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา นบพิตำ พรหมคีรี เมือง พระพรหม ร่อนพิบูลย์ ชะอวด จุฬาภรณ์ และลานสกา ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะแก่การผลิตมังคุดนอกฤดู ซึ่งจะขายได้ราคาสูงกว่าปกติ ถึง 10 เท่าตัว ปัจจุบันเกษตรกรผลิตมังคุดนอกฤดูได้ปีละ 10-30% ของพื้นที่ทั้งหมด
เกษตรจังหวัดฯ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแผนการจัดการผลผลิตมังคุด ในปี 2552 ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในเร็ว ๆ นี้ นายไพโรจน์ จิตรจง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ประจำศูนย์ปฏิบัติการฯ และ นายเจริญ โมราศิลป์ อดีตเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมชาวสวนมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าในปี 2552 นี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับบริษัทไทยฮง ซึ่งเป็นผู้ส่งออกมังคุดรายใหญ่ มีตลาดปลายทางอยู่ที่ประเทศจีน ได้ตกลงที่จะนำห้องเย็น (ตู้คอนเทเนอร์) มาวาง ณ จุดรับซื้อ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 10 จุด เพื่อให้กลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุด ดำเนินการรวบรวมผลผลิตมังคุดของสมาชิก นำมาชั่งและคิดแยกเกรด เป็นเกรด 4 เกรด คือ เกรด 4A มีน้ำหนักผลละ 100 กรัมขึ้นไป เกรด 3A น้ำหนัก 90 กรัมขึ้นไป เกรด 2A น้ำหนัก 80 กรัมขึ้นไป และ เกรด 1A น้ำหนัก 70 กรัมขึ้นไป สีผิวและหูตามมาตรฐานมังคุดคุณภาพทั่วไป เมื่อรวบรวมคัดเกรดแล้วส่งขายให้กับบริษัทในราคาตามภาวะตลาด ซึ่งจะทำการประกาศทุกวัน ณ จุดรับซื้อ
ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีของเกษตรกรที่จะได้ขายมังคุดในราคาที่สูงขึ้น และไม่ต้องขนส่งผลผลิตไปขายนอกพื้นที่ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงแต่จะต้องรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพให้ได้ อย่านำมังคุดที่ด้อยคุณภาพมาขาย เพราะจะเป็นการทำลายกลุ่มเกษตรกรเอง และทำลายชื่อเสียงของจังหวัด ส่วนผลผลิตที่ตกเกรด คือขนาดผลต่ำกว่า 70 กรัม ทางจังหวัดจะได้หาทางระบายสู่ตลาดภายในประเทศในช่องทางอื่น ๆ ต่อไป
ก็นับเป็นแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาราคามังคุดและผลไม้ อื่น ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน อย่างไรก็ตามเมื่อโอกาสมาถึงชาวสวนมังคุดเมืองนครศรีธรรมราช ต้องทำให้ได้ตามคำขวัญของ ภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ว่า เมืองมงคล คนทำดี ทำผลผลิตมังคุดให้มีคุณภาพดี ซึ่งจะขายได้ราคาดีแน่นอน ที่สำคัญแนวทางดังกล่าวสามารถนำไปขยายผลในการแก้ไขปัญหาผลผลิตอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ด้วย.
โดย ไพฑูรย์ อินทศิลา