นายวิชัย อัศรัสกร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง การประกาศยกเลิกการเก็บภาษี VAT 7% สำหรับวัตถุดิบอัญมณีนำเข้าจากต่างประเทศในครั้งนี้ว่า จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดธุรกรรมการนำเข้าและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจากตัวอย่างที่รัฐบาลประกาศยกเลิกVAT สำหรับสินค้าทองคำนำเข้ามีผลให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมของไทยจากในปี 2543 ที่ส่งออกมูลค่าประมาณ 69,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 274,000 ล้านบาทในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว
+++เล็งส่งออก 6 แสนล.ใน 5 ปี
ดังนั้นเมื่อไทยมีการยกเลิก VAT สำหรับวัตถุดิบอัญมณีนำเข้าประเภทเพชร พลอย และโลหะมีค่าอื่นๆ เชื่อว่าจะทำให้เกิดธุรกรรมการซื้อขายวัตถุดิบเพื่อใช้แปรรูปในการประกอบตัวเรือนส่งออก หรือส่งออกในรูปเพชร พลอยสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งหากในอนาคตอันใกล้นี้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะมีโอกาสขยายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีนี้คาดจะส่งออกได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท จะสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 ล้านบาทได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า(รวม
ส่งออกทองคำ)
"ช่วง 8 ปี (2543-2551) จากการยกเลิกแวตทองคำเพียงอย่างเดียวยังทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยขยายเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว ในปีนี้แม้เศรษฐกิจโลกจะยังซบเซา แต่สัญญาณเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นซึ่งเราคาดว่าจากนโยบายลดภาษีแวตวัตถุดิบจะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับได้ถึง 6 แสนล้านบาทมีความเป็นไปได้สูง"นายวิชัย กล่าวและว่า
+++จัดทัพบุกใหญ่ตลาดจีน
จากการยกเลิก VAT วัตถุดิบนำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพลอยถือเป็นสินค้าที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีนซึ่งถือเป็นตลาดอัญมณีที่ใหญ่มาก ซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน (ข้อมูลสมาคมการค้าทองคำและเครื่องประดับจีนระบุในในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในจีนมีมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาท และในปี 2552 คาดจะมีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและมีกำลังซื้อภายในสูง ขณะที่มีการบริโภคสินค้าพลอยสัดส่วนเพียง 1% ของมูลค่าตลาดรวม) ซึ่งขณะนี้ชาวจีนเริ่มหันมาให้ความสนใจอัญมณีประเภทพลอยสีมากขึ้น ดังนั้นทางสมาคมจึงมีแผนที่จะโปรโมตสินค้าพลอยสีในจีนครั้งใหญ่โดยจะใช้งบหลายสิบล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างหาข้อสรุป ซึ่งล่าสุดในการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยระหว่าง 24-27 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางสมาคมอัญมณีไทยได้มีการลงนามขยายความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เชิงกว้างและเชิงลึกในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับกับสมาคมการค้าทองคำและเครื่องประดับจีนเป็นการนำร่องแล้วและหลังการลงนามความตกลงจะมีความร่วมมือกันในการจัดตั้งThai-China Gems and Jewelry Trade Association รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางการค้าอัญมณีของไทยที่กรุงปักกิ่งภายในปีนี้ด้วย
++คลังมั่นใจเก็บภาษีได้เพิ่ม20เท่า
ด้านนายสาธิต รังคศิริ รองปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า จากการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัตถุดิบอัญมณีนำเข้าในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยภาครัฐในส่วนของกรมสรรพากรจะมีรายได้จากภาษีซื้อขายวัตถุดิบหัก ณ ที่จ่าย รวมถึงภาษีกำไรจากการซื้อมา-ขายไปเช่นเดียวกับสินค้าทองคำได้มากขึ้น จากที่ผ่านมายอมรับว่ากระทรวงสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัตถุดิบอัญมณีนำเข้าได้น้อยมากเพียงตัวเลขสองหลักต่อปี เนื่องจากมีขบวนการนำเข้าเลี่ยงภาษี รวมถึงมีการคอร์รัปชันของข้าราชการบางส่วนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ การเลิกภาษี VATครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการผลิต
อัญมณีและส่งออกมีต้นทุนที่ต่ำลง และมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น
"การสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีแวตที่สามารถเก็บได้เพียงตัวเลขสองหลักต่อปี ซึ่งการยกเลิกแวตวัตถุดิบอัญมณีนำเข้าจะมีผลทำให้ขบวนการเลี่ยงภาษีซึ่งอยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินมากขึ้นเพราะไม่ต้องหลบเลี่ยงอีกต่อไป ขณะที่ประเทศผู้ขายวัตถุดิบจะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในไทย รวมถึงเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในไทยมากขึ้น เชื่อว่าเมื่อธุรกิจอัญมณีขยายตัวจะทำให้กรรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเพิ่มจากเดิมได้ไม่ต่ำกว่า 10-20 เท่าต่อปีในอนาคต"
แฉไทยพึ่งวัตถุดิบแอฟริกา 70%
ขณะที่นายพรชัย ชื่นชมลดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พรชัยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อดีตนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่มองเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณี จากนี้ไปเชื่อว่าจะทำให้วัตถุดิบซึ่งเคยหลั่งไหลไปยังประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินเดีย ไหลกลับมาไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการมีวัตถุดิบเป็นของตัวเองถือเป็นจุดแข็ง และจะทำให้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกมีความเป็นไปได้สูง เพราะปัจจุบันไทยถือเป็นแหล่งผลิตและส่งออกทำให้มีความได้เปรียบ เพราะคู่แข่งส่วนใหญ่เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เป็นแค่เทรดเดอร์ประเภทซื้อมา-ขายไป ที่สำคัญแต่ที่ผ่านมาวัตถุดิบในประเทศเริ่มร่อยหรอเหลือสัดส่วนไม่ถึง 10% ของความต้องการใช้ ที่เหลือต้องนำเข้า โดยสัดส่วน 60-70% ต้องนำเข้าจากกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา
"มาร์ค"เผยเบื้องหลังเลิกVAT
ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการกล่าวปาฐกถาพิเศษของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่อง "รัฐบาลกับการนำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก"ในวันที่ 29 มิ.ย.ว่า โดยเนื้อหาหลักนายอภิสิทธิ์จะกล่าวถึงเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการประกาศยกเลิกภาษี VAT วัตถุดิบอัญมณีนำเข้า โดยจะพูดถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีของไทยที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ2 (ช่วง 5 เดือนแรกเป็นรองแค่สินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ) โดยช่วง 5 ปีผ่านมามูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้อุตสาหกรรมอัญมณีฯยังมีการจ้างงานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้น
น้ำ (การเผา และการเจียระไน) อุตสาหกรรมกลางน้ำ(การทำต้นแบบด้วยขี้ผึ้ง และด้วยโลหะ,การหล่อ,ทำพิมพ์,ผ่าพิมพ์,ขัดแต่ง,ชุบ และการขึ้นพิมพ์) และอุตสาหกรรมปลายน้ำ(การขึ้นรูปและตบแต่งเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน,ทอง และแพลทินัม) จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.17 ล้านคน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อป้อนให้แก่อุตสาหกรรมเริ่มมีมากขึ้น หลังจากประเทศไทยซึ่งในอดีตมีวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้แก่ ทอง (สุโขทัย ลพบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี) ทับทิม(จันทบุรี) และไพลิน(กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด) โดยได้นำวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตด้วยฝีมือที่ประณีตงดงาม และสร้างชื่อเสียงในนามทับทิมสยามจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกแต่ปัจจุบันวัตถุดิบเหล่านี้ในประเทศแทบไม่มีแล้ว
ขณะที่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอันดับที่ 13 ของโลกซึ่งจากข้อมูลของ World trade Atlas ระบุในปี 2550 ไทยมีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 4,586 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 1.95% ของการนำเข้าจากทั่วโลกส่วนข้อมูลปี 2551 ยังไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ดีไม่เพียงแค่รายได้จากการส่งออกเท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมอัญมณีฯยังสร้างรายได้จากการจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยโดยจากข้อมูลพบว่านักท่องเที่ยวจะนำเงินมาใช้จ่ายในหมวดของที่ระลึกสัดส่วน 26% ของรายจ่าย ในส่วนนี้จะเป็นการใช้จ่ายในการซื้อหาอัญมณีและเครื่องประดับสัดส่วนถึง 10%
จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้ ดังนั้นจึงขอยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัตถุดิบอัญมณีทุกประเภทที่นำมาผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคและเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลกได้