ดีเดย์ลดภาษีอาเซียน-อินเดียปี52
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตลาดอินเดียถือได้ว่าเป็นตลาดที่สำคัญของไทยในอนาคต และมีเสถียรภาพสูง เห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศอินเดียน้อยมาก เพราะภาคการผลิตพึ่งพาตลาดในประเทศสูงถึง 75% ทำให้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อย และยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง มีผู้บริโภคที่มีรายได้ในระดับกลาง-สูงกว่า 350 ล้านคน
นอกจากนี้ตลาดอินเดียยังมีความหลากหลาย สินค้าไทยทุกชนิดสามารถส่งเข้าไปขายในอินเดียได้ทั้งหมด ดังนั้นโจทย์ที่ยากไม่ได้อยู่ที่ว่าจะขายสินค้าอะไร แต่อยู่ที่จะหาผู้ซื้อให้เข้ากับสินค้าของเราได้อย่างไร ซึ่งการจะแก้ปัญหาดังกล่าวผู้ส่งออกจะต้องเข้าไปลงลึกสำรวจตลาดอย่างแท้จริง เพราะอินเดียมีความแตกต่างกับไทยเป็นอย่างมากในเรื่องของวัฒนธรรม และมีรูปแบบของสินค้า โดยจุดอ่อนของผู้ส่งออกไทยคือการมีความอดทนน้อย ซึ่งผู้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องใช้อดทนในการเจรจากับผู้นำเข้าอินเดียอย่างมาก เห็นได้จากการเจรจาเปิด FTA กับอินเดียจะต้องใช้เวลานานกว่า 7 ปี และยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการทำความเข้าใจในตลาดอินเดียให้ลึกซึ้ง ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถผ่านด่านนี้ไปได้จะมียอดการสั่งซื้อสูงใช้เป็นฐานการส่งออกได้ในระยะยาว
ในส่วนของการเปิดเสรีการค้าในกรอบอาเซียน-อินเดีย ขณะนี้ขั้นตอนการเจรจาได้เสร็จสิ้นแล้ว และผ่านการพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะมีการลงนามได้ในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งจะมีผลลดภาษีได้ในเดือนมกราคมปีหน้า โดยไทยจะมีแต้มต่อเหนือกว่าชาติอื่นในอาเซียน 1 ปี ขณะที่การเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยอินเดียได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยเปิดเสรีในสินค้าบริการมากขึ้น เพราะอินเดียมีความโดดเด่นในเรื่องของ ไอที และธุรกิจการศึกษา และยังขอให้ไทยลดแต้มต่อในกรอบอาเซียนที่มีมากกว่าประเทศอื่น 1 ปี ลดลงเหลือ 6 เดือน ขณะที่ไทยก็ขอให้อินเดียเปิดเสรีในสินค้าเกษตรมากขึ้น ในจุดนี้ถือได้ว่ามีความอ่อนไหวสำหรับอินเดีย ดังนั้นหากไทยอยากจะเดินหน้าเปิดเสรีในกรอบไทย-อินเดียให้รวดเร็ว เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ ไทยจะต้องเสียบางอย่างให้กับอินเดียมากกว่าชาติอาเซียนอื่นๆเช่นกัน
เจรจา BIMSTEC คืบลงนามปีหน้า
ด้านการเปิดเสรีในกรอบ BIMSTEC ที่เป็นการเปิดเสรีการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ประกอบด้วย ไทย บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล และศรีลังกา รวมกันแล้วเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีประชากร 1,490 ล้านคน มีกำลังซื้อหลายระดับ อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งด้านคุณภาพและราคา
สำหรับไทยแล้ว การเข้าร่วม BIMSTEC มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยในกลุ่ม BIMSTEC นี้ มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.48% ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด คือ อินเดีย และต่ำสุดคือพม่า มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 3,515.71 เหรียญสหรัฐต่อปี ประเทศที่มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศมากสุด คือ อินเดีย รองลงมาเป็นไทย บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า เนปาล และภูฏาน ตามลำดับ
โดยผลการประชุมล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้สรุปกรอบการลดภาษีสินค้าได้หมดแล้ว ทั้งในเรื่องของรูปแบบ และระยะเวลาการลด/ยกเลิกภาษี การจัดทำมาตรการปกป้อง กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า เหลือแต่เพียงขั้นตอนการรอความเห็นชอบลงนามอย่างเป็นทางการภายในปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มลดภาษีระหว่างกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553
FTAเอเชียใต้ดันการค้าโต30%
ในปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม BIMSTEC มีมูลค่า 11,792 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าเมื่อมีการลดภาษีระหว่างกันจะทำให้การค้าขยายตัวสูงถึง 30% โดยกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพของไทยในส่วนของสินค้าเกษตร ได้แก่ ยาง น้ำตาล ปลาแห้ง ผลไม้ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก ปูนซิเมนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันสำเร็จรูป
นอกจากนี้ไทยยังได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก จากกลุ่ม BIMSTEC เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่อง เช่น อัญมณี เงินแท่ง ทองคำ ปลาทู ปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นต้น รวมทั้งยังก่อให้เกิดความคึกคักด้านการท่องเที่ยว และยังเป็นสะพานการค้าเชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้กับอาเซียน
แนะทุนไทยปักธงธุรกิจก่อสร้าง-รถยนต์-ท่องเที่ยว
ด้านนางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนายการส่วนเอเชียใต้ สำนักเอเชีย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในกรอบการเปิดเสรีสินค้า อาเซียน-อินเดีย ได้กำหนดกรอบว่าจะเริ่มลดภาษีตั้งแต่ปี 2010 จากนั้นในปี 2013 สินค้ากว่า 70% ของสินค้าทั้งหมด จะลดภาษีเป็น 0% และในปี 2016 สินค้า 80% จะลดภาษีเป็น 0% ทั้งนี้สินค้าจำนวน 10% ของสินค้าทั้งหมดจะไม่ลดภาษีลง ส่วนที่เหลืออีก 10% จะเป็นสินค้าอ่อนไหวโดยจะลดภาษีลงเหลือ 5% ภายในปี 2016 โดยกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของไทยประกอบด้วย สินค้าเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกบางชนิด สิ่งทอ และรถยนต์ ส่วนของอินเดียก็เป็นกลุ่มสินค้าคล้ายๆของไทย เช่น สิ่งทอ รถยนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสสูงในตลาดอินเดียในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ได้แก่ อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน และโดยเฉพาะสินค้าสำหรับเด็ก ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะในแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่สูงกว่า 30-40 ล้านคน เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าละอิเล็กทรอนิกส์ เม็กพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง อลูมิเนียม และเครื่องจักร เป็นต้น ขณะที่การลงทุนนั้น ไทยมีศักยภาพในธุรกิจการก่อสร้าง ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน บันเทิง และสันทนาการ
ขณะที่ นายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้จัดการขายต่างประเทศอาวุโส บริษัท เอสซีจีพลาสติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจที่มีศักยภาพโดยเด่น อันดับ 1 ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากคนอินเดียมองประเทศไทยดีมากๆ ในแต่ละปีจะมีคนอินเดียเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก จนเกิดค่านิยมว่าถ้าใครไม่เคยมาเที่ยวไทยจะล้าสมัย นอกจากนี้วัฒนธรรมอินเดียนิยมที่จะจัดการแต่งงานใหญ่โต ใช้เวลา 5-7 วัน และทุ่มงบประมาณจัดงานหลายล้านบาท ทำให้คนกลุ่มนี้นิยมที่จะเข้ามาจัดงานในไทยเป็นอันดับ 1 ซึ่งจะกระจายไปในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีของภาคการท่องเที่ยว ที่จะจัดแพกเกจส่งเสริมการขาย อำนวยความสะดวกด้านพิธีกรรม และการพักผ่อนให้เหมาะสมกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ก็จะเป็นช่องทางในการนำเม็ดเงินเข้าประเทศอีกมหาศาล
อันดับ 2 เป็นธุรกิจรถยนต์ และชิ้นส่วน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำมาก คิดเป็นเพียง 5-10% ของมูลค่ารถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจบริการอู่ซ่อมรถยนต์ อันดับ 3 ธุรกิจก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค รวมไปถึงโรงไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก อันดับ 4 สินค้าเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะไม้แกะสลัก และเครื่องตกแต่งภายในบ้านของไทย อันดับ 5 ขนมขบเคี้ยวต่างๆ แต่เน้นว่าต้องมีรสชาติหวาน และจะต้องเป็นอาหารฮาลาล อันดับ 6 เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่ต้องใช้สีสรรฉูดฉาด และควรหลีกเลี่ยงสินค้าที่ใช้สีขาว - ดำ และอันดับ 7 อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคตเป็นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้มีโรงงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นการเข้าไปปักธงลงทุนในเมืองหลักๆ ก็จะสามารถขยายฐานลูกค้าไปอีกเป็นจำนวนมาก
ขอบคุณ
ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ |
7 สิงหาคม 2552 |