ผมทราบตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับหน้าที่ว่ามาในสภาวการณ์ที่ไม่ธรรมดา ประเทศไทยนอกจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เรายังมีปัญหาทางตันทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนที่ได้เข้ามาบริหารประเทศ พบความก้าวหน้าในการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง และตัวเลขเศรษฐกิจก็ดีขึ้นทั้งในรายเดือนและรายไตรมาส จึงหวังว่าปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น ส่วนเรื่องการเมือง แม้มีความแตกต่างทางความคิด มีการประท้วงต่างๆ แต่รัฐบาลก็ไม่นิ่งเฉย ทันทีที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย ผมจะหารือกับรัฐสภาและพรรคการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ผมต้องการพูดถึงคือประเทศไทยหลังพ้นวิกฤต เพราะเราต้องรู้ว่าเราต้องการเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไรในอนาคต เพื่อให้สามารถจัดวางวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ เราต้องมองภาพกว้างแทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คนที่ดูภาพจากหน้าจอโทรทัศน์อาจเห็นการประท้วง หรือเหตุการณ์รุนแรงในบางครั้ง และอาจตั้งคำถามว่าเป็นความล้มเหลวของประชาธิปไตยของไทยใช่หรือไม่
หากมองย้อนกลับไป 10 ปีก่อน ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศต้นแบบของประชาธิปไตย เพราะมีความก้าวหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีการประท้วง มีเหตุการณ์รุนแรง มีความเห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายังสามารถลงรอยกันได้ และมีความหวังเหลืออยู่ในการเดินไปตามแนวทางประชาธิปไตย เราเชื่อว่าประชาธิปไตยเท่านั้นที่นำมาสู่ความสงบและความยั่งยืน แต่แน่นอนว่าเรื่องความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงมันเกิดขึ้นได้ แม้แต่ประเทศที่มีประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มที่ ก็เคยเกิดสงครามกลางเมืองมาแล้ว
ปีก่อนประเทศไทยมีนายกฯ 4 คน มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ตรงนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของประชาธิปไตย แต่เป็นความก้าวหน้า ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2552 นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ได้เดินทางมาเยือนไทย และบอกไว้ว่าการเมืองไทยจัดจ้านเหมือนรสชาติอาหาร ขณะนี้สังคมไทยกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน เรากำลังเรียนรู้เพื่อไปสู่จุดนั้น ประชาชนเริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดี ไม่ใช่เรื่องคนกลุ่มน้อย หรือชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่จะเข้าไปอยู่ในทุกหลังคาเรือน จึงถือเป็นฟ้าหลังฝนที่พอมีความหวัง
ประชาธิปไตยที่ควรเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานนิติรัฐและนิติธรรม มีความรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบได้ เคารพเสียงส่วนใหญ่ ทว่าต้องให้เสียงส่วนน้อยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย รัฐบาลชุดนี้สนใจเรื่องสาระมากกว่าเรื่องรูปแบบ และมองว่าการมีพรรคการเมือง มีรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ามีประชาธิปไตยเสมอไป แต่ประชาธิปไตยเสรีต่างหากที่เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง
สำหรับปัจจัยที่จะนำไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยโฉมใหม่คือ
1.การตอบสนองความต้องการของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนต้องมาก่อน มันหมดยุคที่การเมืองจะอยู่ในมือผู้กุมอำนาจเพียงไม่กี่คน ปัจจุบันประชาชนคาดหวังให้ตอบสนองสิ่งที่ตนต้องการ
2.ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมานฉันท์และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย หลังเข้ารับตำแหน่ง ผมพยายามยื่นมือเข้าไปสร้างความปรองดอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานให้ประชาชนทุกคน แม้จะไม่ได้เลือก หรือสนับสนุนพรรคของผมก็ตาม เพราะถ้าปราศจากความสมานฉันท์ การดำเนินนโยบายต่างๆ จะเป็นไปอย่างลำบาก ไม่มีความยุติธรรม มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะนำไปสู่การบิดเบือนกฎหมาย ผมจึงต้องการให้ความเชื่อมั่นว่าการบังคับใช้กฎหมายจะอยู่ภายใต้หลักความเป็นธรรม เป็นกลาง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทางการเมือง
3.ต้องคำนึงว่าสังคมและเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เชื่อมกับเรื่องการเมือง การเมืองเรื่องท้องถิ่นถือว่าหมดยุคไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาต้องเข้าใจว่าราคาพืชผลกำหนดโดยตลาดโลก ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเพียงลำพัง
4.ต้องมีหลักธรรมาภิบาลและการเคารพกฎหมาย เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากความไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาล รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งได้อ้างถึงความนิยม และทำตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะยอมรับประชาธิปไตยอย่างเสรี และกำหนดบทบาทของรัฐบาลให้เน้นเรื่องนโยบาย เพราะสิทธิอันชอบธรรมก็คือนโยบาย ไม่ใช่อำนาจเหนือกฎหมาย หรือการแทรกแซงสถาบันที่ส่งเสริมประชาธิปไตย เช่น สื่อสารมวลชน
5.ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งประเทศไทยได้แสดงให้โลกเห็นว่าแม้จะมีความไม่มั่นคงทางการเมืองในอดีต แต่การเชื่อมั่นในกลไกตลาดเสรี ทำให้เราฟื้นตัว และยืดหยุ่นได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แม้จะมีอุปสรรค หรือปัจจัยด้านลบจากปัญหาการเมืองก็ตาม
@ รัฐบาลจะจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร
การใช้เงินคงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด แต่ต้องหยิบยื่นความยุติธรรมและการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ส่วนการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต รัฐบาลได้พยายามเข้าไปรื้อคดีความต่างๆ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอพยานหลักฐาน แต่น่าเสียดายที่หลายคดีถูกทำลายหลักฐานไปแล้ว แต่ก็พยายามทำให้เกิดความก้าวหน้า
@ รัฐบาลจะสามารถชนะใจคนในชนบทได้อย่างไร เพราะขณะนี้คนกลุ่มนี้กำลังเรียกหาการเมืองเก่า
คงไม่ปฏิเสธว่าคนในชนบทเป็นฐานเสียงของฝ่ายค้านในปัจจุบัน แต่มันเป็นเรื่องของภูมิภาคมากกว่าจะไปตีความว่าเป็นแบบนั้นทั้งหมด เพราะภาคใต้ก็เป็นชนบทไม่ต่างจากภาคอีสาน อย่างไรก็ดี คะแนนความนิยมในตัวรัฐบาลก็ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายต่างๆ เป็นที่ต้องการของประชาชน
@ หากในอนาคตไม่ได้รับเลือกตั้งกลับมา นโยบายต่างๆ จะได้รับการผลักดันต่อหรือไม่
ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้ง ผมก็ยังเป็นคนไทย แม้ไม่มีอำนาจ แต่เชื่อว่านโยบายต่างๆ น่าจะได้รับการผลักดันให้เดินหน้าต่อไป
ขอบคุณ มติชนออนไลน์