นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาล ที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ให้เป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญ เช่นการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติหลักการ ให้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และให้เร่งรัดการดำเนินโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออก เบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และศูนย์ลอจิสติกส์รวมทั้งคลังสินค้า (Logistics Park) ในพื้นที่บริเวณชายแดนแม่สอด พร้อมจัดหาพื้นที่สร้างคลังสินค้าจำนวนนับ 1,000 ไร่ บริเวณแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2
ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2552 ถึงการที่จะเอารูปแบบของระบบบริหารพื้นที่พิเศษเข้ามาใช้ในพื้นที่เมืองแม่สอด นำร่องในลักษณะท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำให้ตนเองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ต้องสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในทันที
ทั้งนี้ จะเร่งปัดฝุ่นฟื้นการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ในระดับจังหวัด จะให้ กรอ.จังหวัด ขับเคลื่อนการทำงานแบบคู่ขนานกับนโยบายรัฐบาล เน้นการพัฒนาศักยภาพเมืองการค้าชายแดนและการเป็นเมืองพิเศษชายแดน ในลักษณะรูปแบบท้องถิ่นพิเศษ สร้างกลไกนี้ให้ขับเคลื่อนแบบคล่องตัว เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่และพัฒนาศักยภาพเมืองชายแดนให้เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ผู้ว่าฯตาก ย้ำว่า แนวทางการดำเนินการ เพื่อจะสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล คือ 1.เร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนเมืองแม่สอดและท้องถิ่นพิเศษชายแดน 2.จัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาทุกภาคส่วน(ราชการ-เอกชน-ประชาชน)
3. ให้บทบาท กรอ. ในการทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมเพิ่มคณะกรรมการ จากเดิมที่มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชายแดน -ประธานหอการค้า-ประธานสภาอุตสาหกรรม โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการ กรอ.เพิ่มเติม อีก 4 ภาคส่วน ในจำนวนภาคส่วนละ 3 คน คือ ภาคการค้าชายแดน ภาคธุรกิจท่องเที่ยว-ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม โดยมีสื่อมวลชน คอยร่วมตรวจสอบและติดตามการทำงานร่วมกับ กรอ.จังหวัดตาก อย่างใกล้ชิดและช่วยรายงานผลการทำงานทุกระยะ ของการพัฒนาเมืองชายแดน
นายสามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ.จังหวัดตาก ต่อไปนี้จะมีการจัดประชุมทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละครั้ง หากมีเรื่องเร่งด่วนก็อาจจะมากกว่า 1 ครั้ง
เขาบอกว่า วันนี้ศักยภาพของแม่สอด มีสูงมากและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญที่จะสนับสนุนและพัฒนาเมืองแม่สอด ในหลากหลายรูปแบบ และจากตัวเลขการค้าชายแดนไทย-พม่า( แม่สอด-เมียวดี) มีมูลค่าการค้ามากกว่า 23,000-24,000 ล้านบาท ดังนั้นบทบาทคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน จ. ตาก ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงต้องมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมรัฐ-เอกชน อย่างจริงจัง และ กรอ. คือ คณะกรรมการที่จะขับเคลื่อนในการพัฒนาทางเศรษฐกิจเมืองการค้าชายแดนและเมืองพิเศษชายแดนได้อย่างดียิ่ง
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน