กระทรวงการคลัง จี้ กฤษฎีกาเร่งพิจารณากฎหมายหลายฉบับหลังถูกดองกว่า 3 เดือนแล้ว ทั้งภาษีที่ดิน กองทุนการออม และการเงินการคลัง คาดเข้าสู่สภาไม่ทันสมัยประชุมนี้แน่นอน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ยังอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 12 ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง เนื่องจากมีอดีตรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงการคลังหลายคน ทำให้มีการพิจารณาล้วงลึกไปในรายละเอียดของการจัดตั้งกองทุน การจ่ายเงินสมทบและเงินสะสม รวมไปถึงได้มีการสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาหากไม่มีแรงงานนอกระบบสนใจเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เรียกเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจงแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะส่งร่างกฎหมายกลับมาให้รัฐบาลได้เมื่อไหร่
“ร่างกฎหมายจัดตั้ง กอช.ได้ส่งไปยังกฤษฎีกานานหลายเดือนแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะส่งกลับมาเพื่อให้รัฐบาลผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ โดยเข้าใจว่าร่างกฎหมายอาจมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมากหรือถึงขั้นรื้อใหม่เป็นร่างใหม่ของกฤษฎีกาด้วยซ้ำ ซึ่งการตั้ง กอช.ถือเป็นเรื่องใหม่กระทรวงการคลังเข้าใจว่าคณะกรรมการทุกท่านมีความหวังดีอยากให้กฎหมายออกมาดีที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ส่งผลให้เกิดความล่าช้าออกไปจากเดิม”
เมื่อประเมินจากการพิจาณากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การจัดตั้งกองทุนการออมแรงงานนอกระบบนี้คงไม่ทันเดือน ม.ค.2554 เพราะกว่าจะผ่านกระบวนการของสภาและการทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังทำประชาพิจารณ์เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นและรัฐบาลเองเห็นว่ายังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ค้างอยู่ที่กฤษฎีกาก็ยังไม่มีความคืบหน้าเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่เสนอไปประมาณ 3 เดือนแล้ว โดยทางคณะกรรมการกำลังตรวจสอบข้อกฎหมายโดยละเอียดและมีการนำไปเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายเดิมที่เคยจัดทำ และเสนอไปแล้วครั้งหนึ่งเพื่อดูข้อได้เปรียบเสียเปรียบและภาระของประชาชน
โดยกระทรวงการคลังเข้าใจว่าจะมีการปรับปรุงข้อกฎหมายให้แตกต่างจากฉบับที่เสนอไปไม่น้อย และยังต้องผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง จึงไม่แน่ใจว่าจะได้เห็นร่างกฎหมายของกระทรวงการคลังฉบับใดได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยประชุมนี้ซึ่งจะเริ่มในเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังฉบับใหม่ด้วย และหากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาขอกฤษฎีกากระทรวงการคลังจึงจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีสิ่งแวดล้อมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการผลักดันต่อไป
อย่างไรก็ตาม มองว่า การผลักดันร่างกฎหมายจัดตั้ง กอช.ซึ่งเป็นนโยบายของ รมว.คลัง ที่มีความตั้งใจให้ออกมาบังคับโดยเร็ว เพื่อช่วยสนับสนุนการออมหลังเกษียณของแรงงานนอกระบบ คงต้องเป็นแรงผลักดันจากการเมืองเพื่อให้สามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น ส่วนบทบาทของกฤษฎีกานั้นเข้าใจว่าทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่รัฐบาลเสนอไป แต่ปัจจุบันถือว่ามีอำนาจหน้าที่ค่อนข้างมากในการพิจารณาลงลึกในรายละเอียดและขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นข้อดีทำให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์ขึ้นแต่ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดความล่าช้า จึงทำให้ร่างกฎหมายคั่งค้างอยู่ที่กฤษฎีกาจำนวนมาก