แม้จะมีปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดส่งออกสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การส่งออกในเดือนต.ค.2553ขยายตัวลดลง ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยการส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 17,132.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% และเมื่อเทียบเป็นเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 522,374.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5%
การนำเข้าในเดือนต.ค.2553 มีมูลค่า 14,810.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5% ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 457,211.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% ทำให้ในเดือนต.ค.นี้ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,321.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และคิดในรูปเงินบาทเกินดุล 65,163.8 ล้านบาท
มูลค่าการส่งออกในเดือนต.ค.2553 ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น 10.2% จากการเพิ่มขึ้นของข้าว 6.8% ยางพารา 63.5% อาหาร 9.3% เป็นต้น แต่มันสำปะหลังลดลง 17.3% น้ำตาล 77.6% เพราะผลผลิตในประเทศลดลง และความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 17.1% โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่ม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 5.5% เครื่องใช้ไฟฟ้า 13.8% ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 32.4% อัญมณีและเครื่องประดับ 40.2% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก 28.3% สิ่งทอ 20.8% แต่วัสดุก่อสร้างลดลง 19.1% เพราะการส่งออกโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้าไปออสเตรเลียลดลงถึง 98% ขณะที่สินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 15.3%
ตลาดส่งออกสำคัญ ยังขยายตัวทุกตลาด โดยตลาดหลักขยายตัว 11.1% ตลาดศักยภาพสูง 19.4% และตลาดศักยภาพระดับรอง 8.3% โดยตลาดสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาเซียน 14.6% จีน 27.0% สหรัฐฯ 4.9% ญี่ปุ่น 18.2% ฮ่องกง 32.6% ตะวันออกกลาง 9.9% แอฟริกา 12.7% ละตินอเมริกา 42.0% รัสเซียและซีไอเอส 103.7% ส่วนตลาดที่หดตัวมีเพียงทวีปออสเตรเลียลดลง 9.8% เพราะส่งออกวัสดุก่อสร้างและทองคำไปได้น้อย
ทางด้านการนำเข้าในเดือนต.ค.2553 ยังมีการขยายตัวทุกกลุ่มสินค้า โดยสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 20.3% สินค้าทุน เพิ่มขึ้น 14.9% สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 19.9% สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เพิ่มขึ้น 35.4% และอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 19% ส่นวสินค้าเชื้อเพลิงลดลง 10.4% เพราะราคาลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับยอดรวมการส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 2553 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่ารวม 160,277.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.2% คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 5,136,223.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.7% การนำเข้ามีมูลค่ารวม 148,810 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.8% คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 4,828,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 11,467.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดในรูปเงินบาทเกินดุล 307,365.4 ล้านบาท
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกเดือนต.ค.2553 เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง เพราะผู้ประกอบการเริ่มได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทุกๆ ปลายปี จะมีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงเป็นประจำอยู่แล้ว จึงทำให้ยอดการส่งออกในเดือนต.ค.ชะลอตัวลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าแนวโน้มการส่งออกในอีก 2 เดือนที่เหลือ คือ เดือนพ.ย.-ธ.ค. จะยังคงขยายตัวได้ โดยคาดว่าจะส่งออกได้มูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 14,500-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเป็นไปตามที่ประเมินไว้นี้จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีทะลุ 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวได้ 24.5% สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้มูลค่า 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20%
"ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในอีก 2 เดือนที่เหลือจะยังคงขยายตัวได้ เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้แม้จะทำให้มีเงินไหลเข้า และส่งผลกระทบถึงเงินบาท แต่ไทยก็มีโอกาสที่จะผลักดันส่งออกจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย ต้องมองให้เห็นทั้งวิกฤตและโอกาส วิกฤตต้องหาทางแก้ โอกาสก็ต้องคว้าเอาไว้"นางพรทิวากล่าว
ทางด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2553 และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวเกินไปกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ มาจากความต้องการในตลาดโลกที่ฟื้นตัวมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2552 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2553ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบเอเซีย คือ จีน อินเดีย เอเซียตะวันออกและอาเซียน ขณะที่สต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มกลับมาซื้อมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรแลอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ผลสำเร็จจากข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาเซียน รวมทั้งความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อเนื่อง
ส่วนผู้ประกอบการไทย ได้รับการยอมรับในด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการมากกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อยังสนใจที่จะซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุผลที่ทำให้การส่งออกของไทยในปี 2553 นี้ มีโอกาสที่จะขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% แน่นอน แต่จะมากกว่าหรือน้อยกว่า 25% นั้น สิ้นปีนี้คงได้รู้กัน