บิ๊กซีมี 69 สาขา คาร์ฟูร์มี 42 สาขา รวมกันแล้ว ก็จะกลายเป็น 101 สาขา
ศักยภาพการแข่งขันกับคู่แข่งในธุรกิจค้าปลีก (ทั้งห้างขนาดใหญ่ด้วยกัน และร้านค้าปลีกรายย่อยอย่าง "โชห่วย")
ย่อมจะเพิ่มขึ้น มีการประหยัดจากขนาดที่จะช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง
อำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตและขายส่งสินค้า ก็มากขึ้น
บริษัทแม่ของบิ๊กซี ในประเทศฝรั่งเศส ถึงกับอวดสรรพคุณของการฮุบกิจการครั้งนี้ว่า
จะทำให้บิ๊กซีมีรายได้รวมกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท!
แถมยังอุตส่าห์ยืนยันอีกด้วยว่า พวกตนมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง
โดยไม่กังวลต่อปัจจัยลบต่างๆ (รวมถึงปัญหาการเมือง) ทำให้วางแผนว่า ในปี 2554
จะเดินหน้าลงทุนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งขยายสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม!
สิ่งเหล่านี้ อาจเป็น "ข่าวดี" สำหรับผู้บริโภค และภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเฉพาะหน้า
แต่น่าคิดว่า บรรดาผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลีกรายย่อยสัญชาติไทย จำพวก"โชห่วย"
ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่อยู่ในสภาพต้องคอย "ขอแบ่งตลาด" จากห้างค้าปลีกรายใหญ่เหล่านั้น
จากนี้ไป จะเตรียมตัว เตรียมพร้อม หรือจะปรับตัว เพื่อรับมือกับการแข่งขันจาก "คู่แข่งยักษ์ใหญ่"
ที่มีพลานุภาพ ทั้งอำนาจทางการค้าและการตลาด มากขึ้นกว่าเท่าตัวเช่นนี้ อย่างไร?
เรื่องนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะบรรดาร้านโชห่วย จะต้องเร่งระดมความคิด
และหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อรักษาสภาพการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม
คุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของผู้บริโภค ในขณะเกียวกันก็จะต้องคำนึงถึงสิทธิในการประกอบอาชีพ
ของบรรดาร้านค้าปลีกราย ย่อยสัยชาติไทยทั้งหลายด้วย
ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เบื้องต้น ขออนุญาตเก็บความข้อคิดบางส่วน
จากบทความของ "คุณปรีดา เตียสุวรรณ์" ปรากฏอยู่ในหนังสือ "สร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน 999 วัน เล่ม 2"
ชื่อบทความว่า "สิ่งที่อยากจะเห็นใน 365 วันข้างหน้า: กรณีร้านโชห่วย"
อาจจะเป็นตัวจุดประกาย หรือเป็นสารตั้งต้นทางความคิด
เพื่อนำไปสู่การแสวงหาแนวทางใหม่ด้วยแนวคิดที่หลากหลายมากขึ้น
1) "ปลาใหญ่" ไล่กิน "ปลาเล็ก"
การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ในระยะหลัง ได้ขยายเข้าไปในชุมชน ระดับอำเภอ ในต่างจังหวัดมากขึ้น
ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งรายย่อยดั้งเดิมในลักษณะปลาใหญ่กินปลา เล็ก
"ร้านโชห่วย" ในชุมชนระดับอำเภอ ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดทั่วประเทศจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน
ยอดขายลดลง บางรายลดลงมากกว่าร้อยละ 50 บางรายต้องเลิกกิจการ
ยิ่งกว่านั้น หากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และรายใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งมีทุนสูงหรือทุนต่างชาติขนาดใหญ่
และมีอยู่เพียงไม่กี่ราย (น้อยลงไปอีกหนึ่งราย) ร่วมกันในลักษณะที่เรียกว่า "ฮั๊ว"
หรือสมรู้ร่วมคิดร่วมมือกันในทางธุรกิจ ผู้ผลิตรายย่อยก็จะได้รับความลำบาก
เกิดพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต "ร้านโชห่วย"
เศรษฐกิจครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชนและสังคม
2) การชะลอการขยายสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่
ควรพิจารณากำหนดให้ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ตั้งอยู่นอกเขตเมือง
(รวมถึงห้างค้าปลีกประเภท Hyper Mart ที่ลดขนาดลงด้วย)
แต่ให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมตั้งอยู่ในเมืองและชุมชน เพื่อแบ่งพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายกัน
ทั้งยังควรจัดทำเขตวัฒนธรรม เพื่อสงวนให้เฉพาะ "ร้านโชห่วย"
สามารถค้าขายตามวิถีชุมชนตามที่เคยค้าขายกันมาตั้งแต่อดีตต่อไปได้ก็ตาม
นอกจากนี้ ควรพิจารณาควบคุมเรื่องเวลาเปิด-ปิดของห้างค้าปลีกสมัยใหม่
อาจกำหนดให้มีจำนวนเวลาเปิดบริการ เช่น 80 ชั่วโมง/สัปดาห์
โดยไม่จำกัดวันและระยะเวลาเปิดทำการ แต่รวมแล้วทั้งสัปดาห์ต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้โชห่วยได้ค้าขายสินค้าบ้าง
3) การใช้กฎหมายควบคุม
ต้องมีกฎหมายควบคุมการขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ
มีประสิทธิภาพ เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการกำกับดูแลการขยายตัวของตราสินค้า
เฉพาะของผู้ประกอบธุรกิจค้า ปลีกค้าส่ง (House Brand หรือ Private Brand)
อาทิ สินค้ายี่ห้อบิ๊กซี โลตัส ฯลฯ เพราะในที่สุด
จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยภายในประเทศ
4) การใช้มาตรการทางภาษี
อาจพิจารณาให้ห้างค้าปลีกสมัยใหม่แต่ละสาขา
ยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในท้องถิ่นที่สาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่นั้นตั้ง อยู่
โดยไม่ให้ยื่นชำระภาษีรวมกันที่สำนักงานใหญ่
เนื่องจากการยื่นชำระภาษีของทุกสาขารวมกันที่สำนักงานใหญ่
ทำให้ห้างค้าปลีกสามารถนำรายได้ของสาขาที่ขาดทุนมาหักค่าใช้จ่าย และเสียภาษีน้อยลง
ทั้งยังควรให้มีการนำภาษีที่เก็บได้ในแต่ละท้องถิ่นไปให้ความช่วยเหลือ
ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเปิดสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โดยอาจให้มีกองทุนให้กู้ยืม
หรือช่วยเหลือ รวมทั้งอาจนำไปเป็นระบบช่วยพัฒนาร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือโชห่วยต่อไป
บทความของคุณปรีดา เตียสุวรรณ์ ใน "สร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน 999 วัน" ยังมีสาระมากกว่านี้
ทั้งยังอาจจะถกเถียงกันต่อไปได้ ถึงความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม
หรือจะต้องคุ้มครองร้านค้าปลีกสมัยใหม่ จำพวก "มินิมาร์ท" มากน้อยกว่า "โชห่วย" แบบไทยๆ เดิมๆ มาก-น้อย เพียงใด?
และที่ขอฝากไว้เฉพาะหน้า สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน และกระทรวงพาณิชย์
คือ ขอให้ไปดู พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ โดยเฉพาะเมื่อบิ๊กซีฮุบคาร์ฟูร์ไปแล้วนั้น จะทำให้เกิด
"ผู้มีอำนาจเหนือตลาด" ที่ภาครัฐจะต้องบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และเข้มข้น ได้หรือยัง?