ตาก ใช้โมเดล ม.พะเยา จัดตั้ง ม.ตากสินผ่านร่าง ส.ส.พรรคปชป.และร่างของรัฐบาล เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในภาคเหนือตอนล่าง ตามโครงการ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ตามนโยบายของรัฐบาล
รายงานจากการประชุมคณะทำงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยตากสิน ณ ห้องประชุมสายประทีป ศาลากลางจังหวัด อ.เมือง จ.ตาก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นายอุดร ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดตาก กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันในการนำรูปแบบของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นแนวทางการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดตาก และมีมติร่วมกันให้ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยในจังหวัดตากว่า “มหาวิทยาลัยตากสิน” และแจ้งผ่านหัวหน้าสำนักงานจังหวัดตาก ให้นำเข้าในวาระการประชุม กรอ.ตาก , กรมการจังหวัด และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตาก เพื่อขอความเห็นชอบในที่ประชุม ต่อไป
และในวันเดียวกันในการประชุมสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี2554 ที่จังหวัดเพชรบุรี ฯ พณฯ นายชัยวุฒิ บรรณวุฒิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ส.ส.ตาก ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งผ่านโทรศัพท์ว่า มติที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ที่ จ.เพชรบุรี มีมติเห็นชอบในการสนับสนุนในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดตาก ตามข้อเสนอของ 4 ส.ส.ตาก ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเขตเลือกตั้ง ที่มีตนเอง นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายธนิตพล ไชยนันทน์ และ น.พ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ เป็นผู้เสนอขอความเห็นชอบ
“การนำเสนอร่างการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดตาก ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามโครงการจัดตั้ง 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย จะนำเสนอเป็น 3 ร่างด้วยกันคือ ขอให้จังหวัด เสนอร่างผ่าน ช่องทาง กรอ.จังหวัดและส่วนกลาง ส่วนตนเองในฐานะ ส.ส.ตาก จะเสนอร่างผ่านพรรคประชาธิปัตย์ ควบคู่กับร่างของรัฐบาล ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ และจะส่งร่างผ่านความเห็นชอบผ่านคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนมีนาคม ศกหน้านี้” นายชัยวุฒิ กล่าวและว่า
รายงานแจ้งว่า แผนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยตากสิน ประกาศลงนามผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และคณะทำงานได้วิเคราะห์เอกสารงานวิจัย และศึกษาความเป็นไปได้ และใช้รูปแบบของโมเดลมหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา มาใช้เป็นรูปแบบ ศึกษาดูงาน ร่าง พรบ.รูปแบบมหาวิทยาลัย โครงสร้าง จัดทำประชาพิจารณ์ และชี้แจง พรบ.มหาวิทยาลัย เสนอแผนการขอจัดตั้งมหาวิทยาลัย ผ่านสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อทราบโดยจังหวัดตาก เป็นผู้เสนอ และมีขั้นตอนเสนอผ่าน กรอ.ตาก สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด และผ่านทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ โครงการจัดตั้งมหาวิทยาตากสิน ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน
รายงานแจ้งอีกว่า ปัจจุบันในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตาก มีการเปิดการเรียนการสอน 4 คณะ นักศึกษา 4,476 คน มีคณะวิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร คณะบริหารและศิลปะศาสตร์ และคณะศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในอนาคตจะมีการเปิดคณะเกษตรเทคโนโลยี คณะการบิน คณะแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และคณะสังคม คาดว่าจะมีนักศึกษาเพิ่มขึ้น นับ 10,000 คน รองรับการเติบโตเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อปท.รูปแบบพิเศษ และรองรับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงตะวันตก และตะวันออกของประเทศ