ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีคนไปปักหลักรอเข้าคิวสมัครขอสินเชื่อโครงการ “บ้าน ธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก” ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งแต่ตี 4 เพราะเงื่อนไขดอกเบี้ย 0% เป็นเวลานานถึง 2 ปี ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่รัฐบาลให้การดูแลประชาชนในเรื่องที่อยู่อาศัย อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ใครจะว่าเป็นประชานิยมแบบ “ไฟไหม้ฟาง” เป็นสินเชื่อหาเสียง ทีพรรคประชาธิปัตย์งัดออกมาเอาใจประชาชน ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสูหน้าเลืออกตั้ง ก็สุดแท้แต่ แต่โครงการนี้ ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนเต็มๆ
ความจริง รัฐบาล และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ควรทำโครงการในลักษณะนี้มานานแล้ว และควรทำเป็นโครงการอย่างถาวร ให้ทั่วถึงมากกว่านี้ ดอกเบี้ยอาจะไม่ต้องถึง 0% ก็ได้ แต่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดพอสมควร เพราะบ้านนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ ทุกคนอยากมีบ้านเป็นของตนเอง เพราะการมีบ้านถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งในชีวิต และบ้านเป็นเหมือนหลักที่เป็นที่ยึดเหยี่ยวให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้โดยมั่นคง
แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วๆ ไปที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองหรือทำธุรกิจประสบความสำเร็จจนร่ำรวย การได้มีบ้านเป็นของตนเองไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากจะต้องมีเงินก้อนหนึ่งมาวางเป็นเงินดาวน์แล้ว ยังต้องมีอาชีพการงานที่เป็นหลักแหล่ง มีรายได้แน่นอนสม่ำเสมอในระดับที่ธนาคารพอใจ ครั้นเมื่อได้เป็นเจ้าของบ้านสมใจแล้ว บ้านที่เป็นความใฝ่ฝันในตอนแรก ก็กลับกลายมาเป็นภาระใหญ่ เพราะจะต้องผ่อนส่งต่อไปอีก 20-30 ปี
ที่ว่าเป็นภาระใหญ่นั้น เพราะเงินที่ผ่อนชำระไปในแต่ละเดือน โดยเฉพาะในช่วงสี่ห้าปีแรกของการผ่อนชำระนั้น ไม่ได้ทำให้เงินต้นลดลงไปสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นรายได้ของธนาคารเจ้าหนี้
ระบบการเงินในบ้านเรานั้นก็เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ คือเป็นระบบตลาดเสรี ที่ราคาของสินค้า ขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัปพลายในตลาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการซึ่งมีอยู่น้อยรายในตลาดต่างหากที่เป็นผู้กำหนดราคาร่วมกัน ประชาชนผู้บริโภคไม่มีสิทธิต่อรอง เพราะไม่มีทางเลือก เลือกได้เพียงอย่างเดียวคือจะบริโภคหรือไม่เท่านั้น
การปล่อยให้ “ตลาด” เป็นผู้กำหนดราคาโดยเสรีเพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการผลักต้นทุน ค่าใช้จ่ายทุกอย่างมาให้เป็นภาระของผู้บริโภค และสามารถตั้งราคาได้ตามความต้องการ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นไปตามกลไกของตลาดเสรี แต่ในความเป็นจริง คือ การค้ากำไรเกินควร ภายใต้ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา
หากรัฐบาลใดเห็นว่าการปล่อยให้ตลาดมีบทบาทเพียงฝ่ายเดียวในบางกรณีอาจจะไม่เป็นธรรม หรือเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากเกินไป ก็จะทำการแทรกแซงตลาด ด้วยการตรึงราคา อุดหนุนราคา เช่น การรับประกันราคาสินค้าเกษตร การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และ การทำโครงการดอกเบี้ยบ้าน 0% ในครั้งนี้ ฯลฯ ซึ่งมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการทำเพื่อหาเสียงบ้าง ผลาญเงินภาษีของประชาชนบ้าง ซึ่งในหลายๆกรณี ก็เป็นข้อวิจารณ์ที่มีส่วนถูกต้อง
หากผู้วิจารณ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิชาการ ก็จะบอกว่า การกระทำเช่นนั้นของรัฐบาล เป็นการ “บิดเบือนตลาด” หรือ “ไม่มีวินัยทางการคลัง” ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกคนจะมีความเห็นสอดคล้องกันไปในทำนองนี้ เพราะใช้ตำราเล่มเดียวกัน คือ ตำราทุนนิยมแบบตลาดเสรี ที่เห็นว่า ควรจะปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นลงตามกลไกตลาด
โครงการดอกเบี้ยบ้าน 0% นี้ ไม่ค่อยจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการ “บิดเบือนตลาด” หรือเป็นการ “ไร้วินัยทางการคลัง” มากเท่ากับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งคงเป็นเพราะ ประโยชน์ที่ได้ มีความชัดเจนว่า ตกอยู่กับประชาชน ที่สามารถประหยัดดอกเบี้ยในสองปีแรก 1-2 แสนบาท แล้วแต่วงเงินกู้ ส่วนผู้ประกอบการโครงการบ้าน และคอนโดมีเนียม ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ก็ได้รับอานิสงส์ที่โครงการดอกเบี้ยบ้าน 0% นี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขาย ช่วยระบายสินค้าได้ในระดับหนึ่ง
ผู้เสียประโยชน์ หากจะมีก็คงเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้สินเชื่อบ้านที่จะต้องเสียลุกค้าบางส่วนให้ ธอส.ไป แต่เมื่อเทียบวงเงิน 25,000 ล้านบาทของโครงการนี้ กับมูลค่าสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท แทบจะไม่กระทบกระเทือนเลย
หากไม่มีการเลือกตั้ง รัฐบาลเคยคิดไหมว่าจะผลักดันโครงการแบบนี้ออกมา