การเมืองประชาธิปไตยในหลักวิชาการ หรือในอุดมคติ เป็นการเมืองที่ให้สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพของประชาชนในการเลือกบุคคลที่ตนเห็นว่ามีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความสามารถ เข้าไปในสภา สู่บทบาทการบริหารประเทศเพื่อทำให้ประชาชน กินดี อยู่ดี มีความสุข โดยถ้วนหน้า
จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือเกือบจะสมบูรณ์ มีนักการเมืองที่มีจริยธรรม คุณธรรม และความซื่อสัตย์เข้ามาบริหารประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าประเทศอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ฯลฯ นั่นเป็นเพราะประชาชนในประเทศเหล่านั้นมีโอกาสทางสังคมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการรับรู้ข่าวสาร โอกาสทางการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้อย่างเพียงพอ และโอกาสที่จะได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเท่าเทียม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่มีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามาก และที่สำคัญประชาชนในประเทศเหล่านั้น เข้าใจใน สิทธิ หน้าที่ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น รู้จักปกป้องไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิของตนเอง
หันมามองสังคมไทย คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมถูกเรียกว่ากลุ่มรากหญ้า ถือว่าเป็นคนที่มีมากที่สุดในประเทศ ซึ่งประชาชนส่วนนี้หลายคนกำลังดิ้นรนในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงย่ำอยู่กับที่ ด้วยสาเหตุ โอกาสทางอาชีพไม่อำนวย รวมถึงยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับระบบทุนนิยม (วัตถุนิยม) สมัยใหม่ ทำให้หารายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทั้งบางส่วนยังถูกมอมเมาด้วยอบายมุข (การพนันโดยเฉพาะหวยใต้ดินบนดิน ยาเสพติด) มีผลทำให้ประชาชนส่วนนี้ มีโอกาสรับรู้ข่าวสารจากสื่ออิสระได้น้อยลง ยกเว้นข้อมูลข่าวสารทางราชการที่ผ่านมายังผู้ใหญ่บ้าน หรือผ่านมายังผู้นำการเมืองท้องถิ่น สู่ประชาชนในชุมชน ยิ่งมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลทางการเมืองก็จะรับรู้จากกลุ่มผู้นำทางการเมืองในท้องถิ่น ถ้ากลุ่มการเมืองท้องถิ่นถูกอิทธิพลทางการเมืองระดับประเทศครอบงำด้วยอิทธิพล หรือผลประโยชน์นอกระบบ การถ่ายทอดข่าวสารข้อมูลสู่ท้องถิ่น ก็มีผลกับความคิด และโอกาสการตัดสินใจที่เอนเอียงได้มากขึ้น ยิ่งถ้าถ้าประชาชนได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากนักการเมืองในท้องถิ่น หรือนักการเมืองระดับประเทศด้วยแล้ว ทำให้พวกเขารู้สึกดี เป็นพรรคพวกกับนักการเมืองกลุ่มนั้น ถ้าเกิดนักการเมืองกลุ่มนั้นไม่ดี อาจทำให้ประชาชนรากหญ้าลืมมองถึงความไม่ดีของนักการเมืองกลุ่มนั้นได้ ถึงแม้นักการเมืองกลุ่มนั้นอาจจะมีการโกงกิน ฉ้อราษฏรบังหลวง แต่ประชาชนชาวรากหญ้าเหล่านั้นก็คงยังเลือก และเหตุนี้เองทำให้เกิดประชานิยมที่ไม่บริสุทธิ เป็นเพียงการทำนโยบายประชานิยมเพื่อปกป้องการฉ้อราษฎรบังหลวงหรือปกป้องความผิดของคณะผู้บริหารและผู้มีอำนาจทางการเมือง
การแก้ปัญหาทางการเมืองที่ดี ต้องมีการปฎิรูปการเมืองในระดับบนสู่ล่างอย่างบริสุทธิ และจริงใจเพื่อประเทศชาติ ประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมเสนอความคิดเห็น พร้อมกับการพัฒนาโอกาสที่เท่าเทียมสู่ชุมชนแออัดในเมือง และทุกหมู่บ้านในชนบท ไม่ว่าโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้ระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพการหารายได้อย่างซื่อสัตย์ กระตุ้นให้พวกเขามีจิตวิณญาณแห่งความมุ่งมั่น ขยันในการประกอบอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เกียจการทุจริต คอร์รัปชั่น และการทำชั่วทุกรูปแบบ
ส่วนชนชั้นที่มีโอกาสมากกว่าก็ต้องมีจิตวิญญาณแห่งจริยธรรม และคุณธรรม มีน้ำใจต่อคนที่มีโอกาสน้อยกว่า
รวมถึงต้องสร้างสนับสนุนให้สื่อข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ไม่เอนเอียงช่วยในการตรวจสอบให้กับภาคประชาชนด้วยการมีจริยธรรม และความเป็นธรรมในสังคม