.JPG)
บทความพิเศษ
จาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคาร ที่ 28 มิถุนายน 2554
บรรพต ก่อเกียรติเจริญ
แนะรัฐหนุน เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด
โดย...สกาวรัตน์ ศิริมา
นับเป็นลูกหม้อของหอการค้าจังหวัดตากคนหนึ่ง มีผลงานสำคัญผลักดันให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแจ้งเกิดในวาระที่นั่งประธานหอการค้าจังหวัดตากสมัยแรก ปี2551-2553
หลังจากได้รับตำแหน่งเดิมในวาระที่2 ปี2554-2555 บรรพต ก่อเกียรติเจริญ บอกว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะเป็นภาคเอกชนสามารถทำงานร่วมกันได้แต่อยากให้รัฐบาลใหม่สานต่องานโครงการที่ดำเนินการอยู่สามารถรองรับเขตการค้าเสรีอาเซียนได้ทันภายในปี 2558
ในบรรดาหัวเมืองชายแดนทางภาคเหนือแม่สอดนับเป็นประตูการค้าสำคัญระหว่างไทยและพม่า ผ่านจังหวัดเมียวดีสามารถสร้างมูลค่าการค้าแต่ละปีสูงถึง 30000 ล้านบาท และในอนาคตจะมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่2 ในพื้นที่บ้านวังตะเคียน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าชายแดนไทย-พม่าและเชื่อมโยงกับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด
ในเวลา 5 ปีข้างหน้ายุทธศาสตร์ในการพัฒนาหัวเมืองชายแดนที่จะมีบทบาทสำคัญต่อเวทีเขตการค้าเสรีอาเซียน จะทำอย่างไรที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทั้งด้านการค้าและความมั่นคงซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่า ไม่มีคำว่าพรมแดน ไม่เช่นนั้นโอกาศที่เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านย่อมเกิดขึ้นได้เพราะปัจจุบันนี้ไม่ว่าจีนหรือพม่าได้มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษคู่ขนานกับเมืองชายแดนภาคเหนือหลายแห่งแล้ว
“สิ่งที่เรียกร้องกับรัฐบาลใหม่ครั้งนี้ไม่ใช่ทำแค่ให้กับจังหวัดตาก แต่เป็นการสร้างคำว่า แม่สอดโมเดลขึ้นมาเพื่อให้เป็นต้นแบบในการนำไปใช้พัฒนากับหัวเมืองชายแดนอื่นๆของประเทศไทยอันจะเป็นการเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเป็นระบบ และจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างมหาศาล หากไม่ให้ความสำคัญบทบาทของไทยก็จะเป็นแค่ทางผ่านของคน พาหนะและสินค้า เราจะยอมให้เป็นแบบนั้นหรือไม่” บรรพตกล่าวและว่า
ประการสำคัญความก้าวหน้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ได้ผ่านการเห็นชอบของ ครม.เมื่อ 22 มีนาคม 2554 อนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและมติครม. เมื่อ 26 เมษายน 2554 เห็นชอบในหลักการให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ถาวร 5603 ไร่ 56 ตารางวา จัดตังเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และล่าสุดเพื่อให้เกิดการเดินหน้าในการทำงานทางกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานกำกับการดำเนินโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดขึ้นมา โดยหอการค้าจังหวัดตากเป็นหนึ่งในคณะทำงานนี้ด้วย
การขับเคลื่อนของโครงการนี้ภาครัฐและเอกชนต้องเดินไปด้วยกันภายใต้เป้าหมายเดียวกันเมื่อผ่านขั้นตอนของการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดที่กำหนดให้เสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจำเป็นต้องทำการจัดตั้งงบประมาณเข้ามาต่อยอดในการดำเนินการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นถนน ระบบน้ำ และไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาลงทุนในส่วนนี้อย่างรวดเร็วภายใน 2 ปี บรรพตกล่าวและว่า
ส่วนการบริหารพื้นที่เป็นหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งต้องเข้ามามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง หากว่าขั้นตอนไม่สะดุดเชื่อว่าทุกอย่างจะเดินไปตามระยะเวลาที่กำหนดและก้าวไปสู่การหารือเรื่องบอร์ดระดับประเทศและบอร์ดระดับท้องถิ่น เพื่อเข้ามาพัฒนาให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เดินไปได้อย่างมั่นคง
ถ้าหากเป็นไปตามแผนนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะต้องให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีในเขตการค้าเสรีอาเซียนและต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก
“ผมมองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดมีความก้าวหน้าไปมากในระดับที่น่าพอใจแล้วและหอการค้าจังหวัดตากร่วมช่วยกันผลักดันมาหลายสมัย แต่เพิ่งจะเห็นรูปร่างชัดเจนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมองว่าเป็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยโดยตรง ไม่ว่าจะผ่านกี่รัฐบาลก็ตามหรือว่าพรรคการเมืองใดจะมีบทบาททางการเมือง ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันครั้งนี้ด้วย”
บรรพตกล่าว