อาคารสีเขียวอ่อนสูง 5 ชั้นที่สร้างขึ้นใหม่บนที่ดินใจกลางกรุงย่างกุ้ง ทดแทนตลาดแห่งเดิมที่ถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2553
อาคารแห่งนี้คือเมงกาลาเซ 1 ใน 2 ตลาดค้าปลีก-ค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดของอดีตเมืองหลวงของพม่าและยังเป็นศูนย์ กระจายสินค้าที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของพม่าอีกด้วย
(ย่างกุ้งมีศูนย์กลางการค้าปลีก-ค้าส่งที่เก่าแก่ มีวิถีการค้าที่ทำกันมาอย่างยาวนาน 2 แห่งคือ เมงกาลาเซ และยองกาลาเซ)
ภายในเมงกาลาเซถูกแบ่งเป็นล็อกๆ ขนาดไม่เกิน 1 X 2 เมตร ร่วม 1,000 ล็อก สำหรับผู้ค้าปลีก-ค้าส่งชาวพม่า ใช้เป็นหน้าร้านโชว์สินค้า รอลูกค้าจากทั่วสารทิศเข้ามาเลือก และสั่งซื้อ ก่อนที่จะนำสินค้าในโกดังที่อยู่นอกอาคาร บางรายอาจอยู่นอกเมือง ส่งผ่านเครือข่ายคมนาคมภายในประเทศอีกทอดหนึ่ง
ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยพ่อค้ารายย่อยชาวพม่าที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค ทั้งที่เป็นสินค้านำเข้าจากไทย จีน มาเลเซีย ฯลฯ รวมถึงสินค้าที่ผลิตภายในพม่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องกระป๋อง ของเด็กเล่น ขนม นมเนย ฯลฯ
บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้า จ.ตาก และเป็นตัวแทนจำหน่ายไทยชูรสตราชฎาในพม่า บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ระหว่างเดินเข้าไปทักทายลูกค้าภายในเมงกาลาเซที่สั่งซื้อผงชูรสจากเขามา จำหน่ายในพม่ามานานกว่า 10 ปีว่า ที่นี่ถือเป็น 1 ใน 2 ศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญที่สุดของพม่า มีเครือข่ายทางการค้าที่ฝังรากลึกทั่วประเทศ ถ้าเอาสินค้ามาลงที่นี่ได้ หมายถึงสินค้าตัวนั้นสามารถกระจายไปทั่วพม่าได้แน่นอน
“แต่ละล็อก เขาทำยอดกันได้เป็นหลายๆ สิบล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว”
บรรพตบอกว่า เครือข่ายการค้าในเมงกาลาเซ รวมถึงยองกาลาเซ มีกระบวนการค้าที่ทำกันมาอย่างยาวนาน สืบทอดเครือข่าย สายสัมพันธ์ทางการค้าจากรุ่นสู่รุ่น ใช้ความเชื่อถือระหว่างคู่ค้าที่สั่งสมกันมานานเป็นตัวขับเคลื่อน
ซึ่งสินค้าที่นำเข้าพม่าผ่านทางแม่สอดปีละกว่า 20,000 ล้านบาทจากยอดการค้าไทย-พม่า ทั้งประเทศประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็จะมาลงที่เมงกาลาเซ และยองกาลาเซ ก่อนที่จะกระจายไปยังผู้ค้ารายย่อยตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ภายใต้เครือข่ายของผู้ค้าส่งใน 2 ตลาดใหญ่แห่งนี้ ที่นี่เปรียบเหมือนลมหายใจวงจรทางการค้าของพม่า มีวิถีทางการค้าที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน
บรรพตบอกว่า หากถามว่าวันนี้สินค้าไทยสามารถขายในตลาดพม่าได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าขายได้ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวพม่ามาก โดยสินค้าไทยจะถูกจัดเกรดเป็นสินค้าชั้นดี มีคุณภาพ แต่ราคาก็สูงกว่า เช่น ผงชูรสที่นำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่พ่อค้าพม่าจะจัดวางไว้เฉพาะ ผู้ซื้อต้องเจาะจงเท่านั้นจึงจะได้ แต่ที่หน้าร้าน เขาจะมีผงชูรสจากจีนที่ส่วนมากจะเป็นเกร็ดใหญ่กว่าผงชูรสไทย ให้ลูกค้าดูก่อน เพราะมีราคาถูกกว่า
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผงชูรสเท่านั้น แต่ยังเกิดกับสินค้าไทยประเภทอื่นๆ ด้วย ทำให้เขาก็ไม่แน่ใจว่า หลังพม่าเปิดประเทศมากขึ้น ปรับการค้าเข้าสู่ระบบสากลมากขึ้น ลมหายใจเมงกาลาเซ-ยองกาลาเซ จะยังคึกคักเหมือนเดิมต่อไปหรือไม่
ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย-พม่า มีอยู่ 2 ลักษณะหลักๆ คือการค้าระหว่างประเทศ และการค้าชายแดน โดยการค้าระหว่างประเทศ จะมีทั้งการค้าในระบบหรือการค้าปกติ (Normal Trade) ที่ค้าขายโดยมีสัญญาการซื้อขาย และเปิด LC ตามปกติ, การค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) แยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือการค้าระหว่างบริษัทต่างชาติกับเอกชนพม่า โดยบริษัทต่างชาติต้องนำเข้าสินค้าจากพม่าในมูลค่าเท่ากับสินค้าที่ส่ง สินค้าเข้าไปในพม่า มีการชำระเงินผ่าน LC และการค้าระหว่างเอกชนต่างชาติกับรัฐวิสาหกิจพม่า ซึ่งไม่ต้องเปิด LC แต่ให้ชำระค่าสินค้าผ่านธนาคารกลางของพม่า
นอกจากนี้ยังมีการค้าแบบขายฝาก (Sale on Consignment basis) ซึ่งบริษัทต่างชาติสามารถส่งสินค้าให้กับเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจของพม่าเพื่อ การฝากขาย, การค้าแบบนำเข้าก่อนส่งออกหลัง หมายถึงบริษัทต่างชาติจะส่งสินค้าเข้าไปในพม่าก่อน แล้วบริษัทผู้นำเข้าในพม่าค่อยส่งสินค้าของพม่าออกไปขายให้บริษัทต่างชาติใน มูลค่าที่เพิ่มขึ้น 10%
ซึ่งการค้าในลักษณะนี้จะอาศัยช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าผ่าน ตัวแทนจำหน่าย (Sole Agent) หรือผู้จัดจำหน่าย (Distributor) เพื่อกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศต่อไป โดยจะมีการส่งสินค้าเข้าไปทางกรุงย่างกุ้งเป็นหลัก
ส่วนการค้าชายแดนแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ
1. การค้าในระบบ เป็นการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้นำเข้า-ส่งออกจะทำพิธีการศุลกากร เสียภาษีอย่างถูกต้อง
2. การค้านอกระบบ เป็นการลักลอบค้าขายตามแนวชายแดน เช่น การค้าผ่านแม่น้ำแม่สาย พรมแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย-ท่าขี้เหล็กของพม่า และแม่น้ำเมย พรมแดน อ.แม่สอด จ.ตาก-เมียวดี ซึ่งเรียกกันว่า “สินค้าลอยน้ำ”
3. การค้าผ่านแดน เป็นการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ 3 โดยอาศัยพม่าเป็นทางผ่านสินค้าไปสู่จีน อินเดีย บังกลาเทศ ฯลฯ
กระบวนการค้าไทย-พม่ายังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา เช่น ความตกลงการค้าชายแดนไทย-พม่า กำหนดให้ทำการค้าชายแดนด้วยสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนได้โดยเสรี ตามความหมายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ เยน ดอยช์มาร์ก ปอนด์ และฟรังก์ฝรั่งเศส
แต่ในทางปฏิบัติทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการค้าชายแดนด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ครั้งละไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์ โดยการใช้ตั๋วแลกเงินของธนาคาร สำหรับการค้าที่เกินกว่าครั้งละ 20,000 ดอลลาร์ ต้องเปิด LC
นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ที่พม่ากำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการค้าระหว่างกันคือ
(1) การเปิด L/C เพื่อนำเข้าสินค้า ต้องเป็นเงินที่ได้จากการส่งออกเท่านั้น
(2) กำหนดเพดานนำเข้าไม่เกินปีละ 50,000 ดอลลาร์ต่อบริษัท
(3) กำหนดสัดส่วนการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น ได้แก่ เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ในการเกษตร ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์การสื่อสาร วัตถุดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องเขียน อุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้า ร้อยละ 60 และสินค้าอื่นๆ นอกจากสินค้าจำเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณนำเข้า ทั้งนี้ผู้นำเข้าจะต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าสินค้าอื่นๆ ได้
รวมถึงประเด็นปัญหาเรื่องเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมระหว่างไทยกับพม่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ, ปัญหาการเรียกเก็บเบี้ยบ้ายรายทางเป็นจำนวนมากจากรถบรรทุกสินค้าที่ขนส่ง สินค้าจากชายแดนเข้าไปยังกรุงย่างกุ้ง ทำให้สินค้ามีต้นทุนสูง ตลอดจนประเด็นปัญหาเรื่องการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ที่ทำให้การขนส่งสินค้ามีความเสี่ยงสูง
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในพม่าผูกขาดโดยรัฐบาล และฐานะของธนาคารไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าด (Kyat) สูงกว่าความเป็นจริงมากทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา การชำระเงินในกระบวนการค้าไทย-พม่านั้นมากกว่า 44% เป็นการชำระค่าสินค้านอกระบบ (โพยก๊วน) เนื่องจากระบบเงินตราในประเทศพม่า ยังไม่เป็นมาตรฐานสากล อีกประมาณ 42% ชำระด้วยสกุลเงินบาทและจ๊าด (Kyat)
(อ่าน “โพยก๊วน เส้นเลือดหล่อเลี้ยงการค้าชายแดนไทย-พม่า” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
ส่วนการชำระด้วยวิธีโอนเงินผ่านธนาคาร และการเปิด LC ที่เป็นการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศนั้น จะต้องติดต่อกับ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) เพียงแห่งเดียว
อย่างไรก็ตาม หลังพม่าเปิดประเทศเข้าสู่ระบบตลาดเต็มตัว “เมงกาลาเซ-ยองกาลาเซ” อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิงได้เช่นกัน