ความสำคัญเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด...ทุกรัฐบาลมองเห็นแต่ไม่ผลักดันจริงจัง
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ยังเป็นเรื่องที่รอการผลักดัน แม้ว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จะเห็นศักยภาพของ อ.แม่สอด จ.ตาก แต่การจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรมยังไม่เกิดขึ้น ในขณะที่การค้าชายแดนขยายตัวขึ้น และประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เริ่มจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน
การผลักดันของรัฐบาลครั้งล่าสุด ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีเป้าหมายเป็นประตูการค้าชายแดน กับประเทศพม่า แต่หลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเรียกร้องจากภาคเอกชนอีกครั้ง ให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรได้ข้อสรุปของการบริหารจัดการ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด บนเนื้อที่ 5603 ไร่ เพื่อเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชายแดน รัฐบาลควรเร่งจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมรับการลงทุน และภาครัฐควรเข้ามาให้บริการแบบ One Stop Service เพื่อสร้างเป็นโมเดลต้นแบบของประเทศ
ที่สำคัญ หากมีการนำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารเขตเศรษฐกิจแม่สอด พ.ศ..... เข้าสู่มติครม.และผ่านการเห็นชอบ จะทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เดินหน้าเร็วขึ้น และรองรับประชาคมอาเซียนได้
เขายืนยันว่าพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารเขตเศรษฐกิจแม่สอด พ.ศ..... จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาพื้นที่ โดยกรอบของการจัดตั้งองค์กรของรัฐจะแบ่งเป็นทีมบริหารท้องถิ่น ที่เป็นมืออาชีพด้านเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษากำกับดูแล โดยนายกรัฐมนตรีดูแล
เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการให้นายกรัฐมนตรีดูแล เนื่องจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของหลายกระทรวง
ทั้งนี้การประชุมของคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจแม่สอด ครั้งล่าสุด มีมติจัดตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายขึ้น เพื่อพิจารณาทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารเขตเศรษฐกิจแม่สอด พ.ศ.....และให้ยกร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน พ.ศ..... เพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ยืดระยะเวลาโครงการนี้ออกไปอีก และหากว่าต้นแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่สามารถแจ้งเกิดได้ชายแดนด้านอื่นของประเทศ ที่รอการพัฒนาโดยใช้แม่สอดเป็นต้นแบบก็ไม่สามารถเกิดได้เช่นกัน
เขากล่าวว่า ขณะนี้ หอการค้ามองว่ามี 2 ทางเลือกที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม และไม่ตกขบวนการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้า คือ เร่งรัดขอมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จากนั้นจัดตั้งองค์กรการบริหารเขตเศรษฐกิจขึ้นมาดูแล และรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อว่าภายในปี 2555 ก็ยังมีโอกาสจะเป็นไปได้ในการพัฒนาอย่างจริงจัง หรือให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้ามาเช่าพื้นที่ 5,600 ไร่ และจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งประกาศให้เอกชนทั่วโลกมาประมูลลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานตามสเปคที่กำหนด โดยให้เช่าพื้นที่ 30-50 ปี และจ่ายผลตอบแทนคืนให้แก่รัฐ
ทั้งนี้ จังหวัดตาก มีการประกาศจุดผ่านแดนถาวร “แม่สอด-เมียวดี” เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2540 ตั้งอยู่บริเวณบ้านริมเมย หมู่ที่ 2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยปี 2553 มีมูลค่าการค้า 22,882.82 ล้านบาท และในปี 2554 เพิ่มเป็นเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุด คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋อง และ อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์
นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่าเรื่องนี้ควรถูกผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงเวลาที่ทุกประเทศต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ประเทศไทยจะล้าหลังที่สุด และเสียเปรียบมากที่สุดเช่นกัน
"ตอนนี้พม่ามีการพัฒนารวดเร็ว มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแนวชายแดนประชิดไทยหมดแล้ว และจูงใจนักลงทุนด้วยต้นทุนแรงงานถูกกว่าไทย 5-6 เท่าตัว หากว่าประเทศไทยยังมองข้ามศักยภาพที่มีอยู่ตามแนวชายแดน โอกาสที่โรงงานต่างๆ จะย้ายฐานการลงทุนไปยังฝั่งพม่านั้นมีความเป็นไปได้สูง และต่อไปในพื้นที่อ.แม่สอดก็อาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน"
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยังเป็นเรื่องที่รอการตัดสินใจในระดับนโยบาย ซึ่งทุกคนมองเห็นถึงความสำคัญของ อ.แม่สอด แต่คำถามสำคัญก็คือรัฐบาลจะเริ่มเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้เมื่อไร ในขณะนี้ประชาคมอาเซียนเหลือเวลาอีกไม่กี่ปี