" สมภพ" แนะไทยปรับตัวรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดึงการค้า-การลงทุน-การบริการจากต่างประเทศ ชี้เป็นทางรอดเศรษฐกิจไทย เตือนพม่าคู่แข่งสำคัญ
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 นอกจากจะทำให้อาเซียนมีตลาด มีฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีแล้ว ยังขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศสมาชิกให้สะดวกและมีศักยภาพในการแข่งขันกับโลก ทำให้อาเซียนเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีน และอินเดีย การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้การแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าประเทศไทยสามารถสู้ได้ก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก
ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องเร่งปรับตัวเพื่อดึงการค้า การลงทุน และการบริการ จากต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ทั้งภาคบริการ ท่องเที่ยว ค้าปลีก และ logistics ด้วยปัจจัยที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนเชื่อมระหว่างอาเซียนเก่า (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ บรูไน) และอาเซียนใหม่ (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
จีน เป็นประเทศหนึ่งที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจจีน ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2554 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ร้อยละ 9.2 คิดเป็น มูลค่า GDP เท่ากับ 7.26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 8.2 - 8.8 แม้จะเป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากปี 2554 แต่จีนยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนสูง โดยเฉพาะการลงทุนต่างประเทศของจีน ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนเพียงครึ่งหนึ่งของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในจีน และอนาคตนับจากนี้ไปจีนจะให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว ประเทศไทยควรแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับจีนให้มากที่สุด ทั้งด้านการค้า การลงทุน การบริการ และการท่องเที่ยว โดยอาศัยความได้เปรียบของประเทศไทยด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อมระหว่างอาเซียนเก่า และอาเซียนใหม่ ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการของจีนเข้าสู่ตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นฐานสำคัญในการส่งออกสินค้าสู่ตลาดจีน
แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบหลายด้านในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่จะนิ่งนอนใจไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้แต่ละประเทศมีการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไทยจะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศ
ไทยต้องเตรียมความพร้อมมีการบริหารจัดการเชิงรุก มองทั้งมุมบวกและลบศึกษาเป็นรายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียนใหม่ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดึงเม็ดเงินลงทุนด้วยการดูแลการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ลดกฎระเบียบที่มีความซับซ้อน ปรับโครงสร้างภาษีให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างภาษีของไทยมีการจัดเก็บในอัตราที่สูง เป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนจากต่างประเทศ ความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบ Logistics รองรับการลงทุน
พม่า จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทย จากการที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเปิดประเทศเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พม่าจะกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตาต่างชาติ และนำมาซึ่งสู่การลงทุนในหลายด้าน และด้วยปัจจัยที่พม่ามีทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมาก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) เพียง 1 ใน 11 ของประเทศไทย มีพื้นที่มากกว่าไทยถึงร้อยละ 20 และหากการเมืองในพม่ามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น พม่าจะกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพน่าลงทุนมาก
แนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นของพม่า เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับตัวโดยเร็ว โดยเฉพาะด้านแรงงานที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานพม่าอยู่อย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายกว่า 4-5 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าแรงงานพม่าเหล่านี้จะเดินทางกลับถิ่นฐานเพื่อกลับไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในพม่า และการบริหารจัดการ ด้านการลงทุนที่เปลี่ยนไปตามปัจจัยที่ได้รับผลกระทบด้านแรงงาน ไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยเพิ่มขึ้น พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี ในขณะเดียวก็ต้องพัฒนาด้านภาษาไปพร้อมๆ กันด้วยเพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหามากในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ในขณะที่พม่าสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี
หากประเทศไทยยังไม่เร่งปรับตัว ให้พร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ก็มีโอกาสสูงที่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยจะอยู่ในระนาบเดียวกับพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และมีความเป็นไปได้ที่การพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า จะแซงหน้าประเทศไทยได้ในอนาคต
21 กุมภาพันธ์ 2555
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
|