ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางครั้งไม่สามารถแสดงออกผ่านท่าทีของภาครัฐส่วนกลางได้ดีและประสบผลสำเร็จเท่ากับสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น กรณีโครงการปั่นจักรยานแม่สอด-เมียวดี ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้
ย่ำค่ำของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ลานหน้าเรือนพักวัลลภา ริมถนนสายแม่สอด-ริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 3 สาว 1 หนุ่ม ทีมเซลล์ขายหนังสือเรียนจากปทุมธานี ที่ตระเวนนำหนังสือมาแนะนำตามสถานศึกษาต่างๆในแม่สอด กำลังง่วนอยู่กับการนำจักรยานที่เพิ่งตัดสินใจไปซื้อมาจากท่าข้ามริมแม่น้ำเมย ซึ่งสั่งนำเข้าจักรยานมือสองจากญี่ปุ่น เพื่อเตรียมส่งขายเข้าพม่าผ่านด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี
ผึ้ง 1 ใน 3 สาว นำ 2 ล้อคันเล็กน่ารัก ที่เธอซื้อมาคันละ 800 บาท มาอวดเพื่อนๆ พร้อมกับลงมือล็อคบานพับแต่ละจุดของตัวจักรยาน ตรวจสอบลมยาง ก่อนทดลองปั่นไปรอบๆบริเวณที่ว่างหน้าห้องพัก
เป็นการตรวจสอบความพร้อมก่อนที่พวกเธอจะขี่ 2 ล้อ มือ 2 คู่ใจ เข้าร่วมกับขบวนปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2555 จากแม่สอดเพื่อข้ามไปฝั่งเมียวดี
เธอบอกว่า ไม่รู้มาก่อนเหมือนกันว่าจะมีการปั่นจักรยานเข้าเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กระทั่งไปแนะนำหนังสือเรียนให้กับสถานศึกษาแห่งหนึ่งในแม่สอด มีอาจารย์คนหนึ่งบอกให้ทราบ พวกเธอจึงตัดสินใจไปสมัครเข้าร่วมโครงการปั่นจักรยานครั้งนี้ ที่หอการค้าจังหวัดตาก ก่อนที่จะพากันไปหาซื้อจักรยานมือสองที่ท่าข้ามริมแม่น้ำเมยมาคนละคัน โดยบางคันซื้อมา 800 บาท บางคันก็ 900 บาท ไปจนถึง 1,200 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพ
“เป็นครั้งแรก อยากไปดูบ้านเมืองเขา ได้ข่าวว่าพม่าปิดด่านที่นี่(เมียวดี) มานานกว่าปีแล้ว เพิ่งจะเปิดใหม่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ถ้าข้ามไปเองก็คงไม่ได้เห็นอะไรมาก”ผึ้งบอก
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น(11 กุมภาพันธ์) ผึ้งและเพื่อนๆก็ปั่น 2 ล้อ มุ่งหน้าไปที่สนามกีฬาสมเด็จพระนเรศวร เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อรวมตัวกับนักปั่นน่องเหล็ก ซึ่งมีทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา บางคนมาไกลจากนครพนม มุกดาหาร กรุงเทพฯ และบางรายนัดหมายเพื่อนคอเดียวกัน(2 ล้อ) จากเมืองน่าน เพื่อมาร่วมปั่นจักรยานครั้งนี้ รวมแล้วร่วม 1,000 คน
หลังพิธีเปิด นักปั่นน่องเหล็กทั้งหมด ที่สวมเสื้อยืดสีบานเย็น แยกหมวดด้วยสีหมวก เช่น ม่วง ฟ้า ชมพู ส้ม ก็เริ่มออกแรงปั่น 2 ล้อคู่ใจไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดงานฯกำหนดไว้ มุ่งหน้าไปที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 1(Chit Kyi Yae Bridge) จุดเชื่อมต่อระหว่างแม่สอด-เมียวดี ที่มีหัวหน้าหน่วยงานราชการฝ่ายพม่า ทั้งตำรวจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง หน่วยข่าวกรอง ชุดประสาน รวมทั้ง ติน ติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ที่นำจักรยานของเธอมาร่วมปั่นด้วย ได้มารอรับบริเวณจุดกึ่งกลางสะพาน และมีนักปั่นวัยทีนของพม่าอีกกว่า 400 คนที่สวมเสื้อยืดสีบานเย็น หมวกสีเขียว รอเข้าขบวนในฝั่งเมียวดี
จากนั้นขบวนนักปั่น 2 ล้อทั้งไทย-พม่า กว่า 1,500 คน ก็เคลื่อนเข้าตัวเมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด ซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบ มีเทือกเขาถนนธงชัยของไทย และเทือกเขาดอนะต่าวตันของพม่าล้อมรอบ โดยมีแม่น้ำเมย หรือแม่น้ำตองยิ่น หรือต่องยิน ที่จะไหลขึ้นเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเส้นกั้นพรมแดนอยู่
โครงการปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า ปีนี้(2555) ถือเป็นการจัดขึ้นภายหลังการเปิดด่านเมียวดี ครั้งล่าสุดได้ไม่นาน(พม่าปิดด่านฯเมียวดี ตั้งแต่กลางปี 2553)
ในปี 2554 การปั่นจักรยานมิตรภาพ ที่หอการค้าจังหวัดตากร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตากฯลฯ จัดขึ้นต่อเนื่องมาทุกปี ต้องจัดให้ปั่นกันเฉพาะในเขตไทยเท่านั้น
และถือเป็นการปั่นจักรยานข้ามประเทศเข้าสู่เมียวดีเป็นครั้งแรกในนามของรัฐบาลประชาธิปไตยในพม่า โดยรัฐบาลพม่าได้เปิดพื้นที่ให้นักปั่นได้ปั่นเข้าไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี(Myawaddy Border Trade Zone) ที่อยู่ลึกเข้าไปถึงกว่า 10 กิโลเมตร ถือว่าเข้าสู่พื้นที่ลึกกว่าทุกๆครั้งที่เคยจัดมา
เมียวดี เป็นหัวเมืองชายแดนที่เป็นชุมทางเศรษฐกิจด้านตะวันออกของพม่ามาตั้งแต่โบราณ เป็นประตูด่านแรกด้านตะวันออกของพม่า ที่จะเชื่อมไปถึงเมาะละแหม่ง เมืองที่สมัยอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าสำคัญทางทะเลมาตั้งแต่ พ.ศ.2395 (ค.ศ.1852) และกรุงย่างกุ้ง
นอกจากจะคงสถานะที่เป็นมาตั้งแต่โบราณอยู่ได้จนถึงปัจจุบันแล้ว เมียวดียังได้รับการพัฒนาให้เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East-West Economic Corridor : EWEC) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) อีกด้วย
โดยครั้งนี้ ขบวนนักปั่นจักรยานทั้งหมด นอกจากจะผ่านเข้าเขตเมืองเก่าของเมียวดี ที่สันนิษฐานกันว่า เป็นเมืองในยุคเดียวกับกรุงสุโขทัยของไทย ซึ่งกำลังถูกรุกทำลายจากการขยายตัวของชุมชนที่เติบโตขึ้นตามแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ
พร้อมกับเข้าเยี่ยมชมวัดเจดีย์ทอง”ส่วยมิ่นวุ้น” ที่ประดิษฐานพระเจดีย์ส่วยมิ่นวุ้นเซดีด่อ หรือเจดีย์ทองแห่งเจ้ากรมม้า หรือพระเจดีย์ไร้เงา ณ เกือบจุดกึ่งกลางของเมือง
ก่อนที่ขบวนทั้งหมดจะมุ่งหน้าไปถนนในตัวเมืองเข้าสู่วัดมิเจากง หรือวัดจระเข้ใหญ่ ที่มีพระวิหารตั้งอยู่บนหลังจระเข้ อันมีตำนานเล่าขานกันว่า เคยมีจระเข้ตัวหนึ่งขึ้นมาบนเนินสูงเพื่อกราบไหว้นมัสการวัดเจดีย์ทอง วัดประจำเมืองเมียวดี แล้วไม่ยอมกลับลงน้ำอีก จนกระทั่งสิ้นลมหายใจบนเนินเขานั้น ชาวบ้านจึงสร้างวัดขึ้นบนเนินดังกล่าวแล้ว
บรรดาน่องเหล็กทั้งหมดยังมีโอกาสปั่น 2 ล้อคู่ใจ ลึกเข้าไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี โดยตลอดเส้นทางที่ปั่นร่วม 10 กว่ากิโลเมตร ไม่มีรถทหารหรือตำรวจติดอาวุธครบมือคอยคุ้มกันเหมือนการปั่นจักรยานครั้งก่อนๆ มีเพียงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าประมาณ 150 นาย ที่ทางการพม่าจัดไว้สำหรับอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเท่านั้น
ที่ Myawaddy Border Trade Zone ผู้บริหารยังได้เปิดพื้นที่ Check Point ขาเข้า(พม่า) ให้นักปั่นทั้งหมดพักเอาแรง รับประทานอาหารกลางวัน พร้อมชมกิจกรรม การแสดงบนเวที ก่อนออกแรงปั่น 2 ล้อข้ามกลับฝั่งแม่สอด ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
แน่นอนว่าตลอดเส้นทางที่น่องเหล็กทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ปั่น 2 ล้อคู่ใจผ่านไปนั้น ล้วนแต่ได้พบเห็นรอยยิ้ม และการโบกไม้ โบกมือทักทาย ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยไมตรี
เป็นรอยยิ้ม และไมตรี ที่พยายามบ่งบอกให้เห็นถึงความพร้อมของ“เมียวดี” ซึ่งมีความหมายถึงกำแพงมรกตในภาษาพม่า ที่กำลังจะแสดงบทบาทเป็นชุมทางฝั่งตะวันออกที่มีศักยภาพของพม่าได้เป็นอย่างดี

ทัพนักปั่นน่องเหล็กไทย เกือบพันคน ต่างออกแรงปั่น 2 ล้อคู่ใจผ่านด่านพรมแดนแม่สอด จังหวัดตาก ขึ้นสู่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ชี้ให้เห็นถึงสัมพันธภาพที่มาอย่างยาวนานบนแผ่นดินสองฝั่งแม่น้ำเมย

ภายใต้ธงสีเหลืองที่พลิ้วสะบัดนำขบวน 2 ล้อมิตรภาพไทย เข้าเที่ยวชมจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเมียวดี หรือเมี๊ยะ – วดี
ได้ลึก และกว้างไกลยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลพม่า มีคำสั่งเปิดด่านเมียวดีอีกครั้งเมื่อ 5 ธันวาคม 2555 หลังสั่งปิดนานกว่า 1 ปี

ปีนี้ (2555) ทางการเมียวดี ประเทศพม่า กำหนดเส้นทางให้ขบวนจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า ครั้งที่ 13 ปั่นเลาะเลี้ยว
ไปตามตรอกซอยของตัวเมือง ชมย่านตัวเมืองเก่าจนหนำใจ ก่อนมุ่งหน้าไปจนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ที่อยู่ลึกเข้าไปจากพรมแดนกว่า 10 กิโลเมตร

น่องเหล็กวัยทีนของพม่ากว่า 400 คน ที่นำมิตรภาพ และรอยยิ้มรอรับนักปั่นไทย อยู่ในฝั่งเมียวดี บ่มเพาะสัมพันธภาพระหว่างกัน
ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขามีโอกาสที่จะต่อยอดความสัมพันธ์นี้ได้ในอนาคต


ปรีชา ใจเพชร (สูทสีกากี) นายอำเภอแม่สอด , บรรพต ก่อเกียรติเจริญ (แจ็คเก็ตสีขาว) ประธานหอการค้าจังหวัดตาก , สมศักดิ์ คะวีรัตน์ (แจ็คเก็ตสีดำ) รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ – ตัวแทนหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ฯลฯ ของพม่า เดินหน้ากระดานนำรอยยิ้มแห่งมิตรภาพข้ามจากแม่สอด เข้าสู่เมียวดี

ติน ติน เมี๊ยะ หรือมะ ติน ติน ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า คหบดีแถวหน้าของพรมแดนตะวันออกของพม่า
ซึ่งเป็น 1 ในเรี่ยวแรงสำคัญในฝั่งพม่า ที่ร่วมผลักดันโครงการแห่งมิตรภาพในท้องถิ่น 2 ฝั่งแม่น้ำเมยนี้มาอย่างต่อเนื่อง

สาวน้อยในชุดชนเผ่าต่าง ๆ ในเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ที่ปัจจุบันกลายเป็นชุมทางเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของพม่า ยืนเรียงแถวหยิบยื่นรอยยิ้มรับขบวนจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า ครั้งที่ 13

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองในพม่า ที่คลี่คลายลง เมื่อรัฐบาลกลางเริ่มเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ทางการเมียวดี จัดทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจ – ทหาร เพียง 150 นายเข้าอำนวยความสะดวกด้านการจรจาให้กับขบวนจักรยานมิตรภาพฯ โดยไม่ต้องติดอาวุธสงครามเหมือนหลายครั้งก่อนหน้านี้ / เด็กน้อยชาวพม่า ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม แสดงอาการอย่างออกรส ขณะที่ขบวนจักรยานมิตรภาพฯ ผ่านหน้าไป


วัฒนธรรม เป็นหนึ่งในตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างชนชาติ และเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นแห่งสัมพันธภาพในแต่ละท้องถิ่น ที่สามารถต่อยอดได้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“ไม่น้อยหน้า” หัวหน้าตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเมียวดี กระโดดขึ้นเวทีจับไมค์ร้องเพลงพม่า กระชับระดับความสัมพันธ์ในท้องถิ่นให้แนบแน่นยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับรัฐ ในอนาคต

บรรดานักปั่นทั้งไทย-พม่า ต่างนำจักรยานคู่ใจปั่นไปรอบพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ที่กำลังกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ EWEC