แบงก์ชาติแจงกรอบธนาคารกลางอาเซียนรับมือเออีซี โจทย์ใหญ่เชื่อมภาคการเงิน ยันใช้เงินสกุลเดียวกันไม่ได้ พร้อมสรุปเกณฑ์ QAB มาตรฐานการกำกับแบงก์ลงทุนกลุ่มสมาชิกภายในสิ้นปีนี้ ย้ำสถาบันการเงินไทยปึ้ก-หนี้เสียต่ำ-สภาพคล่องสูงแข่งได้
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความแตกต่างของขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ทำให้การรวมตัวทางการเงินและการพัฒนาการตลาดการเงินภายใต้การเปิดประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ค่อนข้างล่าช้า แต่ทั้งนี้ การรวมกลุ่มก็ไม่ได้มีเป้าหมายในการเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงินเดียวกัน ในทุกมิติ แต่เพื่อให้ตลาดสินค้าและบริการมีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นที่สนใจของนักลงทุนนอกภูมิภาค ดังนั้น การเปิดเสรีทางการเงินจึงเป็นแบบสมัครใจ ตามพัฒนาการของเศรษฐกิจการเงินของแต่ละประเทศ
"ภาคการเงินไม่ใช่ฟันเฟืองหลักแต่มีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกสนับสนุนภาค เศรษฐกิจจริงในการขยายตลาดและฐานการผลิต เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะมิติด้านฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกัน เพราะเป็นการลดข้อจำกัดในการจัดสรรทรัพยากรของผู้ประกอบการ"
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญในการบริหารจัดการการเปิดเสรีภาคการเงิน 4 ด้าน คือ 1.ระบบการชำระเงินเปรียบได้กับถนนที่เดินทางไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกระหว่าง ประเทศในทางการเงิน 2.ลดขั้นตอนและข้อจำกัดเงินทุนเคลื่อนย้ายเปรียบได้กับการลดจุดตรวจคนเข้า เมือง 3.การให้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงินที่เปรียบเสมือนผู้นำทาง ชี้แนะ เงินออมและการลงทุนของผู้ใช้บริการ และ 4. การพัฒนาตลาดทุนให้เชื่อมโยงเงินออมกับเงินลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือก มากขึ้น โดยใน 2 เรื่องแรกคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนอีก 2 เรื่องหลังอาจต้องใช้ระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารกลางอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการเปิดเสรีภาคธนาคารภายใน อาเซียน เพื่อเป้าหมายสุดท้ายให้มีธนาคารจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า Qualified ASEAN Bank หรือ QAB ที่จะสามารถทำธุรกิจในอาเซียนได้ภายในปี 2563 โดยสิ้นปีนี้จะสรุปคุณสมบัติ เงื่อนไข และจะเริ่มการพิจารณาอนุญาต QAB ในปี 2557 ซึ่งเน้นหลักการกำกับดูแลจะต้องไม่ด้อยกว่าการดูแลธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล (Regulatory Arbitrage) ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้บางประเทศเห็นด้วย บางประเทศไม่เห็นด้วย
โดยในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีการประชุมทุกปี พร้อมกับการประชุมระดับ Deputiesของกลุ่มประเทศอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2555 ประเด็นในกรอบเออีซีก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงเงื่อนไข QAB อย่างชัดเจนนัก
นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องเริ่มเตรียมความพร้อม และที่ผ่านมาก็ทำได้ค่อนข้างดีมีการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง และมีเงินกองทุนที่ดีตามมาตรฐานสากล ซึ่งธปท.ก็มีการสนับสนุนการควบรวมโดยสมัครใจ การเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่แล้วให้มีสาขาเพิ่ม ดังนั้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถปรับตัวและแข่งขันกับอาเซียนได้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยก็มีการออกไปทำธุรกิจในอาเซียนและอาเซียน+6 บ้างแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นการติดตามลูกค้าไทยไปทำธุรกิจในต่างประเทศ และเพื่อการขยายฐานธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในต่างประเทศแล้ว 15 แห่ง Subsidiary 2 แห่ง (9 สาขา) ร่วมทุน (Joint Venture) 1 แห่ง สำนักงานผู้แทน 1 แห่ง และดำเนินธุรกิจแบบเป็นพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่น 5 ประเทศ ขณะเดียวกันธปท.ยังได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ไทยในอาเซียนถึงข้อจำกัด ต่างๆในการทำธุรกิจ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเจรจาลดอุปสรรคต่างๆ อาทิ การจำกัดขอบเขตธุรกิจ การจำกัดสถานที่ตั้งของสาขา เป็นต้น
ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จุดแข็งของไทยในการก้าวเข้าสู่เออีซีคือภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่งซึ่งจะ เป็นตัวนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ส่วนทางการมีจุดแข็งจากความสามารถรักษากรอบวินัยทางการคลังได้ดี โดยมีระดับหนี้สาธารณะในระดับต่ำ ในขณะที่นโยบายการเงินก็สามารถรักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพด้านราคา ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยนโยบายทั้ง 2 ด้านก็พร้อมที่จะนำไปเป็นเครื่องมือรักษาการพยุงเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังมีกระสุนสำรองในยามฉุกเฉินด้วย เช่น การออกพ.ร.ก.เป็นต้น ขณะที่จุดอ่อนของการขยายตัวเศรษฐกิจไทยคือความไม่มั่นคงของการเมืองไทย ซึ่งกระทบต่อความไม่เชื่อมั่นการลงทุนทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะด้านนโยบายที่มีความไม่แน่นอน นอกจากนั้นไทยยังขาดการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่นระบบการขนส่งที่เพิ่งพารถยนต์มากกว่าระบบรางทำให้ต้นทุนสูง และอุตสาหกรรมไทยยังเป็นลักษณะการรับจ้างผลิต ดังนั้นควรยกระดับการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีกำไร โดยเพิ่มการวิจัยและพัฒนา (R&D) เนื่องจากปัจจุบันไทยมีสัดส่วน R&D เพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้อยู่ที่ 3% ญี่ปุ่นใกล้ระดับ 3% และมาเลเซียก็สูงกว่าไทย
ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธปท. กล่าวว่า สถาบันการเงินไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะผลักดันเศรษฐกิจ อีกทั้งยังปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,732 19-21 เมษายน พ.ศ. 2555