ทุนไทยชักแถวล่าขุมทองพม่าสองโรงแรมดัง ดุสิต-เซ็นทรัล เตรียมรีเทิร์น"ชนินทธ์"วางโมเดลธุรกิจผุดวิทยาลัยดุสิตธานีพ่วงโรงแรม ค่ายเซ็นทรัล เล็งเข้าบริหารโรงแรม ย้ำยังไม่ลงทุนขอ 2ปี ขอรอกฎเกณฑ์ให้ชัด ส่วนใบหยกชี้อย่าตื่น แฉห้องพัก เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ออฟฟิศขาดแคลนหนัก หันปรับโรงแรม ตึกแถว บ้านเป็นสำนักงานชั่วคราว
นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า โดยเป็นการลงทุนด้านการศึกษาควบคู่กับการลงทุนโรงแรม รูปแบบเดียวกับวิทยาลัยดุสิตธานีและโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ คือมีสถาบันการศึกษาวิชาการด้านการโรงแรมและท่องเที่ยวอยู่ใกล้กับโรงแรม เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงคู่กับการเรียนการสอน ในเมืองที่มีศักยภาพอย่างย่างกุ้ง
"การเขาไปลงทุนในพม่าครั้งนี้เพราะค่อนข้างเชื่อมั่นว่าจะเริ่มเปิดประเทศ หลังจากที่ผ่านมาถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศมหาอำนาจ ที่ทางทหารพม่าก็รู้ว่าจะอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว ซึ่งในอดีตดุสิตก็เคยรับบริหารโรงแรมในพม่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ถูกกดดันอย่างหนัก จากมาตรการบอยคอตต์พม่าของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ถึงขั้นมีการทำจดหมายถึงบริษัทนำเที่ยวในยุโรปให้บอยคอตต์ไม่ส่งนักท่อง เที่ยวมาพักยังโรงแรมในเครือดุสิตทั้งหมดทำให้ต้องถอนตัวออกมา"
นายชนินทธ์ ยังระบุอีกว่า การเข้าไปรับบริหารโรงแรมในครั้งนี้ เพราะคิดว่าเข้าไปช่วยพัฒนาธุรกิจโรงแรมให้พม่า ช่วยเหลือคนให้มีงานทำ แม้จะไม่มีรายได้ เพราะไม่สามารถนำเงินเข้าออกนอกประเทศได้ จากมาตรการแซงก์ชัน แต่ปัจจุบันเชื่อว่าคนจะสนใจเข้าไปลงทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคจะขายดี จากการปิดประเทศไปนาน จากนั้นเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มขยายตัว การลงทุนโรงแรมก็จะตามเข้าไปมากขึ้น เราจึงมองลู่ทางที่จะเข้าไปลงทุนเปิดธุรกิจการเรียนการสอนด้านโรงแรมและการ ท่องเที่ยวในพม่าเป็นหลัก เพราะมีโนว์ฮาวอยู่ และคู่แข่งก็ยังน้อย
ด้าน ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร โรงแรมและรีสอร์ต ในเครือเซ็นทารา เผยว่า สนใจที่จะลงทุนในพม่า แต่จะเป็นลักษณะของการเข้าไปบริหารโรงแรม ซึ่งขณะนี้มีการส่งฝ่ายพัฒนาธุรกิจเข้าไปดูลู่ทางและมีการเจรจากับเจ้าของ โรงแรมในย่างกุ้งแต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งเบื้องต้นคงเป็นการรับบริหารโรงแรมมากกว่าลงทุนเนื่องจากยังไม่มั่นใจใน เรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ การติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องขอดูความชัดเจนอย่างน้อยก็ 2 ปีนับจากนี้
แต่ยอมรับว่าการเปิดประเทศครั้งนี้มีความน่าสนใจมาก แต่เรามีประสบการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเข้าไปลงทุนโรงแรมลอยน้ำในย่างกุ้ง สุดท้ายก็ต้องลากออกไปบริการที่อื่น แต่การเปิดประเทศครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้วเพราะเขาไม่สามารถฝืนกระแสของ โลกภายนอกได้ ทั้งการเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 ก็ทำให้พม่าน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งเราเห็นโอกาสและพบว่าความต้องการห้องพักมีมากขึ้นและราคาก็สูงขึ้น มาก ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาปรับขึ้นถึง 300-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 9,000-12,000 บาทสำหรับโรงแรมห้าดาว
ขณะที่นายพันธุ์เลิศ ใบหยก ประธานเครือโรงแรมใบหยกเผยว่า "หลังจากขายโรงแรมในพม่าไปแล้วขณะนี้ยังไม่สนใจที่จะเข้าไปลงทุนอีก ตอนนี้ขอรอดูสถานการณ์ไปก่อนและการเข้าไปลงทุนขณะนี้ถือเป็นการตื่นตัว มากกว่าและเห็นว่าพม่ายังต้องพัฒนาด้านสาธารณูปโภคอีกมาก ส่วนเหตุที่ขายโรงแรมเพราะหุ้นส่วนต้องการขาย"
ทางด้าน ดร. ปฏิมา จีระแพทย์ ประธานคณะกรรมการ บริหารอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้านานาชาติ เผยว่า หลังเดินทางไปสำรวจการลงทุนในพม่าตั้งแต่ปี 2553 ประเมินว่าภายใน 2 ปีนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นที่ต้องการ ทั้งโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงานให้เช่าเพราะขาดแคลนหนัก ขณะนี้ใช้วิธีเช่าโรงแรมเป็นตึกแถวและบ้านดัดแปลงมาเป็นสำนักงานชั่วคราวแทน
ส่วนห้องพักเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์และปรับราคาอย่างต่อเนื่อง ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วราคาห้องจะอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2553-2554 ปรับมาเป็น 85 ดอลลาร์สหรัฐฯและเมื่อต้นปีปรับเป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากความต้องการสูงแต่ห้องพักมีจำกัด เช่นเดียวกับธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่เต็มตลอดและมีเวดดิ้งลิสต์ยาวราคา เช่าจะอยู่ที่ตารางเมตรละ 1,000 บาทต่อเดือน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-พม่า กล่าวว่า หลังลอยตัวค่าเงินจ๊าตเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาพบว่าเงินเฟ้อ 10 % ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น ห้องพักโรงแรม ร้านอาหาร ตั๋วเครื่องบินในประเทศไปทวายและมัณฑะเลย์ ถูกจองล่วงหน้าเต็มหมด ราคาห้องพักปรับขึ้นราว 30 -40% มีทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้าไปใช้บริการทั้งจากไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ยุโรป และอเมริกา
ส่วนการลงทุนของคนไทยมีทั้งเปิดร้านอาหารไทยที่เนย์ปิตอว์ โรงแรม สินค้าอุปโภคบริโภค พลังงาน เกษตร และการลงทุนของนักธุรกิจไทยแม้จะอยู่ในอันดับ 2 รองจากจีนหรือมีมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 86 % เป็นการลงทุนด้านพลังงานเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นก๊าซ และอันดับ 3 เหมืองแร่ ส่วนอุตสาหกรรมย่อยมีเพียง 14 % เท่านั้น ถือว่ายังน้อยมาก
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,732 19-21 เมษายน พ.ศ. 2555