(1).jpg)
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพม่าและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะก่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภายในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเพิ่มมูลค่าการค้าบริเวณชายแดน ที่มีพื้นที่ติดกับเมืองเมียวดี ชายแดนประเทศพม่า ดังนั้น จังหวัดตากจึงต้องเร่ง
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก บอกว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะทำงานกำกับการดำเนินโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดในคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจแม่สอด และอนุมัติงบประมาณดำเนินการ วงเงิน 9.8 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมคณะทำงานฯ เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีข้อสรุป ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำร่างโครงการดังกล่าวไปศึกษารายละเอียด เพื่อขอมติเห็นชอบ และดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน
"ในการพิจารณาศักยภาพของอำเภอแม่สอด พบว่าสามารถเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อไปยังพม่าได้เร็วที่สุด" นายสุริยะกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างเส้นทางเมียวดี-กอกาเลก ตรงข้ามอำเภอแม่สอด ระยะทาง 18 กม.ซึ่งไทยสนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 1,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ผู้รับเหมาได้นำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ เพื่อสร้างถนน 2 เลนมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อเส้นทางไทย-พม่าผ่านด่านแม่สอด-เมียวดี สะดวกขึ้น จากเดิมมีถนน 1 เลน จะใช้วิธีเดินรถไป 1 วัน กลับ 1 วัน โดยในอนาคตการขนส่งสินค้าจากแหลมฉบัง ไปยังเมืองย่างกุ้ง จะใช้เวลาเพียง 3-5 วันเท่านั้น จากปกติต้องใช้เวลา 21 วัน และยังอาศัยช่องทางนี้ ขนส่งสินค้าไปยังอินเดีย, บังกลาเทศ, ปากีสถาน และยุโรปได้ รวมถึงเชื่อมผ่านจังหวัดมุกดาหารไปประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชาได้อีกด้วย
ขณะที่นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องแยกเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับ 3 อำเภอชายแดนออกจากกัน ซึ่งขณะนี้มีความคืบ หน้าในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอดล่าช้าไปมาก ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญแสดงให้เห็นความพร้อมการเป็นเมืองหน้าด่านรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีปี 2558 ถ้าหากโครงการนี้เดินหน้าไปได้ บนพื้นที่ 5,306 ไร่ก่อน จะทำให้แผนการยกระดับแม่สอด เป็นเมืองหน้าด่านการค้าสำคัญกับประเทศพม่าจะตรงเป้าหมาย เพราะปัจจุบันนี้พม่ากำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายของนานาประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ดังนั้น จะต้องเร่งรัดให้เกิดโครงการนี้โดยเร็ว พร้อมกับทำเศรษฐกิจพิเศษร่วมแม่สอด-เมียวดี เพื่อรองรับการลงทุนจากทั่วโลก
นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2555 คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านพิธีการศุลกากรแม่สอดจะมีไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากพม่าเปิดประเทศ แต่ขณะนี้ติดปัญหาสะพานมิตรภาพไทย-พม่าคับแคบ ไม่สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้จำนวนมาก ต้องใช้วิธีส่งผ่านท่าข้ามของเอกชน ที่มีมากกว่า 22 จุด แต่ถ้ามีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการค้าชายแดนไทย-พม่า ซึ่งจะพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสากลได้ โดยคาดว่าด่านศุลกากรแม่สอดจะต้องใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เพื่อยกระดับเป็นศูนย์บริการวันสต็อปเซอร์วิส
"จะเห็นว่าจากการที่พม่ามีการเปิดประเทศทำให้เกิดกระแสทุนต่างชาติมุ่งตรงเข้าไปสู่ประเทศพม่าอย่างต่อเนื่อง และหากว่าการก่อสร้างเส้นทางเมียวดี-กอกาเลกแล้วเสร็จ จะใช้เวลาเดินทางจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตากไปยังกรุงย่างกุ้ง ของพม่าเพียง 1 วัน ในระยะทาง 400 กม. ซึ่งปัจจุบันแม้ระบบคมนาคมยังไม่เอื้ออำนวย แต่มูลค่าการค้ากลับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นศักยภาพการเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญอีกแห่งของเมืองไทย"
อย่างไรก็ตามในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า มูลค่าการค้าชายแดนผ่านด่านแม่สอด จะทะลุถึงหลักแสนล้านบาท และกรมศุลกากรได้เตรียมนำระบบNationnal Single Windows มาใช้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องปลายปีนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำการขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึงเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย