.jpg)
เมื่อครั้งที่ผู้นำรัฐบาลพม่าเริ่มการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งนักลงทุนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักแต่ในปัจจุบัน เหตุการณ์ดูจะเปลี่ยนเป็นในทางตรงกันข้ามกลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ทุกคนดูจะคาดหวังมากเกินไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพม่า
ความไม่พอใจจากทุกด้านเริ่มเพิ่มมากขึ้นขณะที่รัฐบาลพม่าพยายามที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนั้นยังรวมไปถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าของบรรดาประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เมื่อต้นปีนี้ได้ประกาศระงับการคว่ำบาตรบางส่วน ก็ถูกเฝ้าจับตาว่ากำลังชักช้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนก็กล่าวว่ารัฐบาลพม่ากำลังยึดยื้อการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเพิ่มเติมและล่าช้าเกี่ยวกับการยกเลิกปิดกั้นสื่ออย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มแสดงความผิดหวังที่รัฐบาลพม่าไม่ประกาศใช้กฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่เสียที ในสหรัฐอเมริกานั้น หลายบริษัทธุรกิจอเมริกันออกมาระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯจำเป็นต้องขยับตัวเร็วขึ้นในการให้ไฟเขียวบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและการเงินของสหรัฐฯเองที่ต้องการจะเข้าไปลงทุนในพม่า ไม่เช่นนั้นก็จะพลาดโอกาสให้กับบริษัทคู่แข่งจากยุโรปและเอเชียที่เข้าไปไวกว่า
ภาระที่ตามมากับความคาดหวังเหล่านี้ฉายภาพชัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ก.ค.) เมื่อประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศอภัยโทษนักโทษเพิ่มเติมอีก 46 คน ซึ่งรวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแถวหน้าของพม่าจำนวนหนึ่งด้วย แม้จะเป็นข่าวดีแต่จำนวนก็ไม่มากเพียงพอกับความคาดหวัง กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่านักโทษการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังนั้นมีมากกว่า 500 คนแม้ว่าจะเริ่มมีการปล่อยตัวมาเป็นระยะๆตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่าซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่งกลับจากการเยือนประเทศยุโรป ยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองเพิ่มเติม พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอ ระบุว่ายังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่อีก 330 คน
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) พม่าเปิดประชุมสภาอีกครั้งทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่ากระบวนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงต่างๆจะมีโอกาสเดินหน้าเร็วขึ้น เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัลรายงานว่า แหล่งข่าววงในรัฐบาลพม่าเปิดเผยว่าการเปิดประชุมสภาครั้งนี้น่าจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายอย่างน้อย 10 ฉบับ ซึ่งรวมถึงกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่ด้วย ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมสื่อซึ่งอาจจะรวมถึงการแก้ไขเพื่อยกเลิกการปิดกั้นสื่ออย่างเป็นทางการด้วยนั้น ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าพิจารณาในการประชุมสมัยนี้ นอกจากนั้นยังมีการคาดหมายว่า จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำด้วย
ในส่วนของร่างกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับปรับปรุงใหม่ที่เคยมีการพูดถึงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติได้รับการพักชำระภาษีนานขึ้นและสามารถนำกำไรกลับคืนประเทศได้ถึง 100% รวมทั้งสามารถเช่าที่ดินโดยตรงจากเอกชน แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของพม่าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมาติดอยู่ที่กระบวนการของรัฐสภาซึ่งมีการเสนอให้ปรับแก้ไขใหม่เพื่อความเหมาะสม และนักธุรกิจของพม่าเองก็มองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมากจนเกินไป
ออง เนียง อู อธิบดีกรมการลงทุนและการกำกับดูแลธุรกิจ กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า กล่าวแสดงความคาดหมายว่า ร่างกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่น่าจะผ่านการอนุมัติของสภาภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แม้จะมีข่าวบางกระแสว่ากระบวนการอาจยืดยาวกว่านั้น ทั้งนี้เขาเชื่อว่าเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวจะออกมาตามความคาดหมายและอาจมีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ที่บริษัทท้องถิ่นของพม่าเองจะพึงพอใจด้วยเช่นกัน
ในส่วนของบริษัทเอกชนสหรัฐฯนั้นหลายรายเริ่มขยับตัวแล้ว โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทโคคา-โคล่า ผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ ได้ประกาศจะเริ่มนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในตลาดพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี และบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริกฯ (จีอี) ก็ได้เริ่มเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าแล้วเกี่ยวกับการขายอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่หลายบริษัทก็ยังรีรอดูความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในฝั่งรัฐบาลก่อน "รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องผ่านกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ออกมาเสียก่อน เราจึงจะสามารถทำอะไรได้อย่างจริงๆจังๆ" ดักลาส เคลย์ตัน ผู้บริหารบริษัท เลเพิร์ด แคปปิตอลฯ บริษัทด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งศึกษาตลาดพม่ามายาวนานระบุ

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทอเมริกันนั้น แม้รัฐบาลพม่าจะนำกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่มาใช้ แต่อุปสรรคก็ยังคงมีอยู่ในฝั่งรัฐบาลของสหรัฐฯเอง นั่นคือความล่าช้าเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า แม้ว่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตรทางการเงินพม่าเป็นการชั่วคราวเพื่อให้นักลงทุนสหรัฐฯสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่าได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ แต่เจ้าหน้าที่ของทางการก็ยังคงต้องดำเนินการในรายละเอียดเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็น ทำให้นักลงทุนอเมริกันยังไม่มั่นใจมากนักว่าสุดท้ายแล้วจะได้รับอนุญาตให้ลงทุนด้านใดได้บ้างและด้านใดที่ยังทำไม่ได้
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ วุฒิสมาชิก จิม เว็บบ์ จากพรรคเดโมแครต ซึ่งสนับสนุนการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและพม่าในระดับใกล้ชิดมากขึ้น ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งกระบวนการยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าเพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนอเมริกันเอง "ถ้าเราไม่รีบลงมือเชิงรุกและเร่งด่วน เราจะสูญเสียโอกาสที่เปิดออกแล้วเกี่ยวกับการพัฒนาภาคการเงินในประเทศพม่า" ในโอกาสเดียวกันนั้น หอการค้าอเมริกันซึ่งเป็นตัวแทนของภาคเอกชน ยังได้ทำเอกสารนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการดังกล่าว ใจความระบุว่าการขาดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการยกเลิกคว่ำบาตรพม่า (ของรัฐบาลสหรัฐฯ) น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง "ขณะนี้ประเทศหลักๆที่มีมาตรการคว่ำบาตรพม่าได้ระงับหรือยกเลิกการคว่ำบาตรกันแล้ว การมัดมือบริษัทสหรัฐฯเอาไว้ จะยิ่งทำให้คู่แข่งของเราเข้ามายึดครองพื้นที่เหมือนอย่างที่พวกเขากำลังทำอยู่แล้วในเวลานี้" เอกสารของหอการค้าระบุ
ดีเรค มิตเชล ทูตสหรัฐฯที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปประจำในพม่าเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลกำลังจัดทำรายละเอียดของการระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าโดยจะพิจารณาเปิดโอกาสให้กับทุกๆแขนงธุรกิจ แต่ทั้งนี้กระบวนการระงับการคว่ำบาตรที่มีมานานกว่า 20 ปีต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากมีมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมายและเกี่ยวเนื่องกับตัวบทกฎหมายจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามอย่างมากโดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดจัดทำการระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าให้เสร็จสิ้นโดยไว เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าในระยะไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ รัฐบาลพม่าจะเปิดสัมปทานพื้นที่สำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกหลายแห่ง และหากถึงเวลานั้นถ้ารัฐบาลสหรัฐฯยังไม่มีรายละเอียดออกมา ก็หวั่นใจว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกบริษัทจากยุโรปและเอเชียรุกเข้าไปครอบครองสัมปทานเสียก่อน
ดังนั้นจากที่รีๆรอๆดูการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ค่อยเชื่อใจนัก ปัจจุบันกลายเป็นว่าทุกอย่างดูจะช้าเกินไปในสายตาของนักลงทุน กระนั้นก็ตามการจะเข้าไปลงทุนในพม่ายังไม่มีอะไรมารับรองมากนักว่าจะสดใสอย่างที่คาดหวังกันหรือเปล่า ดังที่นางอองซาน ซูจี ได้เคยกล่าวไว้ในที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ว่า เวลามองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่านั้น อย่าด่วนมองอะไรในแง่ดีอย่างขาดความรอบคอบ และอย่าเข้ามาลงทุนโดยขาดความรับผิดชอบเป็นอันขาด