อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถือเป็นเมืองค้าชายแดนที่สำคัญของภาคเหนือ ในฐานะเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างไทยกับจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ในแต่ละปีมีมูลค่าการค้าหลักหมื่นล้านบาท โดยคาดว่าหลังจากนี้ 3 ปีมูลค่าการค้าชายแดนจะสูงถึงปีละ 50,000 ล้านบาท วันนี้กรุงเทพธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ "บรรพต ก่อเกียรติเจริญ" ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ถึงแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งรองรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ปัจจุบันการเดินทางจากอ.เมืองตาก เข้าสู่อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้เส้นทางหลักจะใช้ถนนที่มีอยู่ แม้จะมีระยะทางเพียง 80 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนาน หากเป็นรถยนต์ส่วนตัว จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง แต่หากเป็นรถบรรทุกสินค้าจะใช้เวลาเดินทางนานกว่า 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากเส้นทางตัดผ่านป่าเขา มีความคดเคี้ยว บางช่วงมีเพียง 2 ช่องทางจราจรทำให้การเดินรถไปมาลำบาก ยิ่งไปกว่านั้น บางช่วงของถนนยังพบว่าเส้นทางชำรุด เป็นหลุมบ่อ หรือบางจุดหากมีการซ่อมบำรุงแล้วก็ยังพบว่าเป็นทางขรุขระ เพราะรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่วิ่งสัญจรไปมาเป็นประจำทุกวัน และมีจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางทางถนนเป็นเส้นทางหลักในการค้าชายแดน เรื่องนี้จึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการขนส่งสินค้า
นายบรรพต กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารระดับสูงของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ลงพื้นที่ชายแดนอ.แม่สอด เพื่อรวบรวมข้อมูลในโครงการทางพิเศษหรือทางด่วนตาก-แม่สอด เพราะเห็นว่าเส้น ทางดังกล่าวมีศักยภาพ และกทพ. เองก็มีศักยภาพในการการลงทุนก่อสร้างให้ถนนเส้นดังกล่าวเป็นเส้นทางผ่านขนส่งสินค้าที่สำคัญได้ มีงบประมาณเป็นของตัวเอง และมีการบริหารจัดการที่ดีกว่า กรมทางหลวงที่มีงบประมาณจำกัด รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีกว่า จุดนี้จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการค้าายแดน
จากการพูดคุยกันคร่าวๆ การก่อสร้างถนนจะเป็นการเจาะอุโมงค์เป็นเส้นทางตรง ซึ่งจะช่วยย่นระยะทางจากของเดิมลงเหลือระยะทางประมาณ 30-40 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ เส้นทางอ. เมืองตากเข้าสู่อ.แม่สอด จะสามารถเชื่อมต่อไปยังจีนและยุโรปได้ ซึ่งกทพ. ต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดขึ้น หากได้รับความเห็นชอบจากชุมชนในอนาคตหากรัฐบาลให้ความ สนใจก็อาจเปิดให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนด้วย
"ตอนนี้กทพ.อยากให้เป็นเรื่องที่ชุมชนช่วยกันผลักดัน ให้เกิดจากความต้องการในพื้นที่โดยแท้จริง แล้วเสนอขึ้นไปยังส่วนกลาง โดยมีกทพ.เป็นแม่งาน ถ้าเกิดการตอบรับดีก็จะมีการส่งที่ ปรึกษาลงพื้นที่ศึกษาโครงการและออกแบบอย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 3 ปีหลังจากนี้ผมเชื่อว่ามูลค่าการค้าชายแดนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท เพราะตอนนี้พม่าเองก็ใช้เส้นทางนี้ ขนส่งเครื่องจักรในการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อเมียวดี-กอกาแหละ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เหลือเวลาก่อสร้างอีก 700 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 ให้ทันกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน" นายบรรพต กล่าว
ตอนนี้เส้นทางถนนเป็นหัวใจสำคัญของการค้าชายแดน ส่วนการที่รัฐบาลที่มีการผลักดันให้ทำรถไฟเชื่อมต่อมาอ.แม่สอด หรือสนามบิน ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคิดในหลายมิติว่าจะ เป็นโครงการที่ใหญ่ไปหรือไม่ รัฐบาลควรให้ความสนใจและเร่งมือทำในโครงการที่เป็นไปได้มากกว่า หากรัฐบาลให้การสนับสนุนและเปิดสัมปทานให้นักลงทุนมาร่วมด้วย ผมเชื่อว่าจะมีนักลงทุนทั้ง จากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ให้ความสนใจร่วมศึกษาและออกแบบอย่างแน่นอน
"การค้าชายแดนแม่สอด สร้างมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญและให้ความสนใจมากนักทั้งๆ ที่มูลค่าการค้าชายแดนมหาศาล แต่ขณะที่โครงการท่า เรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายยังอยู่ในขั้นตอนของการเริ่มต้นดำเนินโครงการ แต่รัฐบาลกลับสนับสนุนและผลักดันให้เกิดขึ้นมากกว่า ผมจึงอยากให้สนใจพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางแม่สอด ให้มาขึ้น เพราะช่องทางนี้จะมีศักยภาพทางการค้าเป็นอย่างมากภายในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้" นายบรรพต กล่าว