บทสัมภาษณ์ โดย......หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2555

ในหัวเมืองชายแดนอันดับหนึ่งของภาคเหนือที่มีมูลค่าการค้าชายแดนนับหมื่นล้านบาทต่อปี อย่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ถือเป็นช่องทางกระจายสินค้าไทยเข้าไปสู่กรุงย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของพม่าที่ใกล้ที่สุด และในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่การเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สภาพของการค้าระหว่างไทย-พม่าบริเวณจุดนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การค้าไร้พรมแดนโดยอัตโนมัติเท่ากับว่าจะเกิดผลกระทบรอบด้านต่อผู้ประกอบการชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.jpg)
นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดตาก ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจขายปลีก-ขายส่งสินค้าอุปโภค และบริโภคไปยังพม่า ในนามของ หจก.หยูล้งอินเตอร์เทรด ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ"ถึงการเปลี่ยนแปลงการค้าชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดตาก ว่า จริงๆ แล้วการค้าชายแดนไทย-พม่าผ่านด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตากปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการปิดด่านพรมแดน, การตัดราคาสินค้า และล่าสุด เมื่อพม่าเปิดประเทศ ทำให้การพึ่งพาผู้ประกอบการชายแดนเริ่มลดลง เมื่อผู้ผลิตสินค้าวิ่งเข้าหาลูกค้าในประเทศพม่าเอง และแม้ผู้ซื้อชาวพม่าเอง ก็วิ่งเข้าหาโรงงานผลิตโดยตรง
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีบรรยากาศการค้าชายแดนไทย-พม่า มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และเท่าที่ทราบสินค้าไทยไม่ได้กระจายไปยังแค่พม่าเท่านั้น แต่ยังขยายไปไกลถึงประเทศจีน, อินเดีย และมองโกเลีย เห็นได้จากการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า ด้วยการมอบรางวัลพิเศษให้แก่ลูกค้า และมีจดหมายส่งกลับมาจากประเทศเหล่านี้ เพื่อมารับรางวัล ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่า สินค้าไทยสามารถแทรกเข้าไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้ แต่ที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้สถานะของผู้ประกอบการด้านชายแดนของไทย มองไปที่การขายเท่าที่สามารถขายได้ โดยไม่ได้มองข้ามไปถึงอนาคตข้างหน้าหรือการขยายการค้าให้มากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหรือการเปิดประเทศของพม่า
"ตอนนี้พม่ากลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่หลายๆ ประเทศต่างเข้าไปสำรวจลู่ทางการค้า และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ผู้ประกอบการชายแดนไทยในพื้นที่อำเภอแม่สอด หากว่ามีการปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ก็ถือเป็นโอกาสเท่านั้น เพราะด้วยศักยภาพทางภูมิศาสตร์ และคอนเนคชั่นทางการค้ามีพร้อม ซึ่งเปรียบเสมือนมีต้นทุนทางการค้าติดตัวอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้าที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศพม่าหรือไม่ ทั้งในรูปแบบลงทุนเอง, การร่วมทุนกับพม่า และการร่วมทุนระหว่างซัพพลายเออร์กับพม่า" นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับประเทศพม่าแล้ว มีวัฒนธรรมการค้าและการบริโภค ที่ยึดติดกับ สินค้าประเภทเดิมๆ ดังนั้นการนำสินค้าประเภทใหม่ๆ ไปแทรกตลาดนั้น ต้องใช้กลยุทธ์ทางการค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาเคยลองผิดลองถูกมาแล้วหลายครั้ง ที่สำคัญจุดแปรสำคัญ คือ เมื่อพม่าเปิดประเทศต้นทุนในการทำการค้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สังเกตได้จากการเปรียบเทียบราคาเช่าอาคารพาณิชย์ในพม่าในกรุงย่างกุ้งห้องละ 5 หมื่นบาท หากซื้อขายราคาหลักล้านบาท เช่นเดียวกับราคาที่ดินในจังหวัดเมียวดีไร่ละ 5-8 ล้านบาทสูงกว่าอำเภอแม่สอดเท่าตัว
ที่สำคัญ กฎระเบียบทางการค้าในพม่าปัจจุบันมองว่ายังไม่ชัดเจน แต่กฎหมายบางอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่วนนี้มองว่าภาครัฐของไทย ควรตั้งหน่วยงานเข้าไปทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบครบวงจรในประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชาวไทยที่จะเข้าไปลงทุนได้อย่างมั่นใจ ซึ่งหากประเมินตอนนี้ผู้ประกอบการชายแดนต่างยังไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่ก็ต้องเร่งปรับตัวให้เร็วที่สุด เพราะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละรายต้องหาทางสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง
"บทบาทของผู้ประกอบการค้าชายแดนเมื่อถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คงไม่ใช่ยุคของคำว่า"เถ้าแก่เฝ้าโต๊ะเก็บเงิน" แต่ต้องเร่งพัฒนาตัวเองไปสู่การค้าที่ต้องมีประชากรเข้ามาอีกนับหลายร้อยล้านคน ต่อไปการค้าขายแบบเก่าๆ ต้องปรับให้เหมาะสม มีการพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการบริหาร ซึ่งหากว่าไม่ปรับเปลี่ยนมุมมองทางการค้าให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ โอกาสที่จะถูกกลืนตลาดมีมากขึ้นทุกขณะ"นายประเสริฐ ย้ำ