เร่งผุดสะพานมิตรภาพไทยพม่าแห่งที่ 2เพิ่มมูลค่าการค้าแม่สอดเท่าตัว
อำเภอแม่สอดถือเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าของทั้งสองประเทศมีการซื้อขายกัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 กรมทางหลวงจึงมีโครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ในอำเภอแม่สอดโดยขณะนี้ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่สำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำประชาพิจารณ์ พร้อมเสนองบประมาณก่อสร้าง 2300 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้ากว่าเท่าตัว
นายวีระชัย ระกำทอง ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่2 กล่าวว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเปิดเวทีการปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่2 ครั้งแรก เพื่อรองรับแผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมไทย-พม่า และเออีซี ทั้งในส่วนของแขวงการทางตากที่2 ได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ถึงแผนการก่อสร้างสะพานแห่งที่2 ว่าเพื่อเป็นการรองรับการขนส่งสินค้าที่มากขึ้นและสร้างมูลค่าการค้าให้กับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเพื่อระบายการขนส่งสินค้าของรถบรรทุก ที่ใช้เส้นทางสะพานแห่งที่1 ด้วยเนื่องจากปัจจุบันมีความแออัดในการขนส่งสินค้า
เบื้องต้นได้มีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัทในการดำเนินลงพื้นที่เพื่อสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำประชาพิจารณ์กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และศึกษาด้านวิศวกรรมจราจร โดยจะศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยสิ้นสุดการศึกษาในวันที่ 1 พ.ค. 2556 ก่อนจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป โดยพื้นที่สำรวจประกอบด้วย 2พื้นที่ คือตำบลแม่ปะและหมู่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด
ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการวางแผนในการทำเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจุดที่มีการวางแนวทางในการก่อสร้างสะพานที่มีการวางจุดที่หมู่บ้านวังตะเคียน และมีการศึกษาเส้นทางเชื่อมต่อ 3 เส้นทาง ได้แก่เส้นทาง 105 ช่วงแม่สอด-ตาก เส้นทางตัดผ่านชุมชนในพื้นที่บ้านวังตะเคียน และเส้นทางช่วงตำบลแม่ปะ ตัดผ่านพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน โดยเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ที่สุดจะเป็นเส้นทางสุดท้าย เนื่องจากประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและไม่อยู่เขตพื้นที่ชุมชนตามที่ทางแขวงการทาง ตั้งใจว่าจะไม่ให้เส้นทางนี้อยู่ในเขตชุมชน อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งสามเส้นทางก่อนที่จะมีการลงมติอีกครั้ง
(1).jpg)
นายวีรชัย กล่าวต่อว่า จากการเปิดเวทีปฐมนิเทศดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในการประชุมหารือและคาดว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป หากมีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆแล้วเสร็จ แขวงการทางตากที่2 คาดว่าจะมีการตั้งงบประมาณเบื้องต้นที่ 2300 ล้านบาทและจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2558 นอกจากนี้ในส่วนของประเทศพม่าเองจะมีการก่อสร้างเส้นทางในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่2 รองรับการขนส่งสินค้าเช่นกัน ส่วนเรื่องการตั้งงบประมาณในการเวนคืนที่ดินขณะนี้ยังไม่มีการตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาของบริษัททั้งสามก่อน
นายพงค์ชัย ตันอรุณชัย รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ในส่วนของหอการค้าจังหวัดตากมองว่าการดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่2 จะส่งผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจของอำเภอแม่สอด และทำให้มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีมูลค่าการค้าประมาณปีละ 30000 ล้านบาท เป็น 60000 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่าเท่าตัว เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มช่องทางการขนส่ง และกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นได้สะดวกและรวดเร็วที่สุดและรองรับการขยายตัวหากเปิดเสรีในปี 2558
แม้ว่าการศึกษาในขั้นต้นจะอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ แต่ทั้งภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สอด ต่างมีความคาดหวังว่าจะให้การก่อสร้างสะพานแห่งที่2 นี้เสร็จทันในการเปิดประชาคมอาเซียน เพื่อรองรับการขนส่งจากนานาชาติที่จะใช้เส้นทางดังกล่าวทดแทนการขนส่งทางเรือ ที่ต้องใช้เวลาในการขนส่งที่ยาวนาน