 (Large).jpg)
ภายหลังจากครม.สัญจร จังหวัดอุตรดิตถ์ มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยจะมีการนำร่องใช้ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตากนั้น นับเป็นการสร้างมิติใหม่ต่อแนวทางการพัฒนาเมืองชายแดนของประเทศไทยที่มีศักยภาพทางการค้ากับประ เทศเพื่อนบ้านเดินไปถูกทางมากขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมทันทีที่มีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 หลังจากที่ใช้เวลาในการผลักดันในเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับการผลักดันอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก ขึ้น โดยร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ....เมื่อลงสู่ภาคปฎิบัติจะทำให้ขั้นตอนการทำงานไปได้รวดเร็วขึ้น และยังสามารถประกาศพร้อมใช้กับพื้นที่ชายแดนของประเทศในทิศทางเดียว
ตามกรอบการทำงานนั้น อำเภอแม่สอด จะถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่นำร่องตามศักยภาพที่มีอย่างโดดเด่น ดูได้จากตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านพิธีการศุลกากรด่านแม่สอด-เมียวดีทะลุเกินปีละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจุดที่มีมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านสูงสุดในภาคเหนือ และเชื่อมโยงกับกรุงย่างกุ้งของพม่าได้ใกล้ที่สุด ดังนั้น แนวทางของการทำงานหลังจากนี้ ควรจะต้องมีการวางกรอบการออกแบบหน้าตาของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดให้มีความเหมาะสมที่สุด
"ผมมองว่าเราควรจะกันพื้นที่มากกว่า 14,000 ไร่ ที่ได้มีการศึกษากันไว้แล้ว จัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจการค้าการลงทุนร่วมแม่สอด-เมียวดี เพื่อให้มีพื้นที่เป็นโลจิสติกส์พาร์คเหมือนอย่างประเทศสิงคโปร์ หรือทางช่องแคบมะละกา ไม่ใช่ให้เป็นแค่เมืองผ่าน แต่อำเภอแม่สอดจะต้องเป็นประตู ซึ่งถือว่าประเทศไทยต้องชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในช่วงที่พม่ายังไม่เข้มแข็ง แต่หากว่ายังล่าช้า และตีโจทย์ไม่แตก จะไม่สามารถหาโอกาสแบบนี้ได้ในอนาคตอีก โดยเฉพาะเมื่อเปิดการค้าเสรีแล้ว " นายบรรพต กล่าว
ประการสำคัญ ได้เสนอว่าควรจะต้องมีการตั้งคณะทำงาน 2 ประเทศ คือ ไทยกับพม่า เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเชื่อว่าพื้นที่ 14,000 ไร่ในฝั่งไทย หากมีการจัดวางระบบที่ดี จะถือว่าเป็นทำเลทองทางการค้า การลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามในอาเซียน และจะก่อให้เกิดการลงทุนได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมา นักลงทุนนานาชาติที่สนใจพื้นที่เมียวดี-แม่สอด ต่างไม่มีความมั่นใจในการลงทุน
ในประเด็นของการยกระดับให้อำเภอแม่สอดมีพื้นที่รองรับการลงทุนจากทั่วโลกนั้น ยังมองว่า นักลงทุนจะได้สิทธิ์ประโยชน์ที่เหมาะสม ขณะที่ทางฝั่งพม่ายังขาดความพร้อมในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นที่จะต้องเข้ามาพึ่งพาในฝั่งไทย ซึ่งหากเปรียบก็จะเหมือนกับจีนพัฒนาเซิ้นเจิ้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะอยู่ใกล้กับฮ่องกง เช่นเดียวกันทำไมเราไม่ต้องพัฒนาอำ เภอแม่สอดให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญของประเทศ และยังเป็นช่องทางที่พม่าต้องพึ่งพาอำเภอแม่สอดไปสู่โลกภายนอกได้ตลอด 24ชั่วโมงอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ในด้านของโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องเร่งรัดให้ทางคณะทำงานได้เห็นภาพที่ชัดเจนให้ทันกับปีงบประมาณ 2557 นั่นคือ ขณะนี้ทางกรมทางหลวงได้ลงพื้นที่ทำการประชาพิจารณ์จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 และทางรัฐบาลพม่าให้การตอบรับจุดการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสรุปผลได้ในเดือนกรกฏาคม 2556 จากนั้นจะสามารถทำการออกแบบ และตั้งงบประมาณทำการก่อสร้างได้
สอดคล้องกับการขยายรันเวย์สนามบินแม่สอด จากเดิมที่มีเพียง 1,700 เมตรจะขยายเป็น 2,200 เมตร ได้มีการลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์แล้วเช่นกัน จากนั้นจะมีการเวนคืนที่ดิน หากไม่มีปัญหาขัดข้องก็เข้าสู่กระบวนการออกแบบ ตามแผนจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารรองรับได้ 300 คน และสามารถรองรับเครื่องโบอิ้ง 737ได้ ต่อไปจะกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศระหว่างไทย-พม่าร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความมั่นใจว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้เดินหน้ามาถูกทางแล้ว และหากเป็นไปตามแผนงาน การพัฒนาเมืองแม่สอดจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ตามที่รัฐบาลลมีแผนการใช้เงินทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรองรับกับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งอำเภอแม่สอด น่าจะใช้งบประมาณจากก้อนนี้ เพราะถือว่าเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อว่าเมื่อเกิดการนำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นระบบแล้ว ต่อไปจะสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในทุกชายแดนของประเทศไทยได้อย่างมีระบบ