ประยุทธ์'เยือนพม่า ถกร่วมมือศก.-เดินหน้าทวาย

นายกฯเยือนพม่าต้นเดือนต.ค.นี้ หารือความร่วมมือพัฒนากรอบอาเซียน ชูความร่วมมือเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด
ขณะพม่ายกโครงการทวายวาระสำคัญหารือร่วม เตรียมปรับกลไกความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ด้านญี่ปุ่นขอไทยกล่อมพม่ากู้เงินรัฐบาลญี่ปุ่น ด้านรองผู้ว่าการธนาคารกลางพม่า ยันยังต้องการเดินหน้าพัฒนาร่วมทวายกับไทย พร้อมหยิบขึ้นหารือฝ่ายไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนต.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรก เพื่อเป็นการแนะนำตัวต่อผู้นำพม่าในฐานะประธานอาเซียนตามธรรมเนียมปฏิบัติในการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และเจรจาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะหารือกับพม่าเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไทยจะขอการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่าในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศให้เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น จะมีการขอให้พม่าพิจารณาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอุตสาหกรรมไทยที่จะมีขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยจะหารือกับพม่าเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาความร่วมมือบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยเฉพาะจะมีการหารือกันถึงการสานต่อโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่เริ่มจากรัฐบาลที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอให้ไทยและพม่าปรับกลไกการทำงานโครงการฯทวายจาก 3 ระดับเป็น 2 ระดับ เพื่อให้การประสานงานและดำเนินโครงการรวดเร็วขึ้น รวมทั้งไทยจะมีการแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย - พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการเกี่ยวข้อง (JHC)
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจากับพม่าเกี่ยวกับโครงการฯทวาย คาดว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการ สศช. หรือผู้แทน ของ สศช.จะเป็นตัวแทนของไทยในการเจรจาเรื่องนี้กับพม่า เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในคณะทำงานในโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น
สศช.ชูพัฒนาทวายหารือร่วม
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะไปหารือเรื่องของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่อยู่ติดกับพม่าว่าจะเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเมียวดีของพม่าได้อย่างไร ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่าได้เดินหน้าไปไกลแล้ว แต่ของฝั่งไทยโครงการยังล่าช้า
นอกจากนี้ ในส่วนของสศช.ก็จะเข้าไปเจรจาสรุปความชัดเจนของนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกเมืองทวายในพม่า ว่าจะไปในทิศทางใด ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องรอดูนโยบายหลักที่ชัดเจนของพม่า ก่อนกำหนดว่าไทยจะเข้าไปลงทุนอย่างไร
ชงนายกฯถกพม่าพัฒนาพลังงานร่วม
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าในด้านพลังงานได้เตรียมเอาไว้ให้พลเอกประยุทธ์ หารือในการเดินทางเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ คือเรื่องของการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ ทั้งในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า ที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ บนแม่น้ำสาละวินตอนบน และกรอบการลงนามบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยู ซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่า
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ทางบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(ปตท.สผ.) เข้าไปลงทุนแล้ว 25 ปี ซึ่งจะมีหยิบยกมาพูดคุยให้เกิดความเชื่อมั่น และแนวทางที่จะพัฒนาความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต
พม่าถกแผนพัฒนาทวายร่วม"ประยุทธ์"
ด้านแหล่งข่าวจากสถานทูตไทยประจำพม่า กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนพม่าระหว่างวันที่ 1-2 ต.ค.2558
นายวินสตัน เซตอ่อง รองผู้ว่าการธนาคารกลางพม่า ทั้งยังรับหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา กล่าวว่าโครงการอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย จะอยู่ในวาระการหารือในช่วงที่ผู้นำไทยเยือนพม่า พร้อมเสริมว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศยังดำเนินไปในแง่บวกแม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย
นายเซตอ่อง กล่าวว่าไม่มีความล่าช้าเรื่องของการร่วมมือกับฝ่ายไทย ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ จริงๆ แล้วดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปเร็วขึ้นด้วยซ้ำ
นายเซตอ่อง กล่าวว่าปัจจุบันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังอยู่ในช่วงของการปรับด้านการบริหาร และการตรวจสอบสถานะของผู้ตรวจสอบบัญชีระหว่างประเทศ น่าจะแล้วเสร็จเดือนหน้า นอกจากนั้น ยังกำลังมีการพัฒนาข้อตกลงสัมปทานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
โดยสัมปทานเดิมระยะเวลา 75 ปี ได้มอบหมายโครงการให้แก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลชุดเดิมของพม่าอันเป็นรัฐบาลทหาร แต่โครงการเผชิญอุปสรรคมากมายตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้วรัฐบาลพม่ากับไทยได้เข้าดูแลโครงการนี้
ยันอิตาเลียนไทยฯยังคงพัฒนาทวาย
นายเซตอ่อง อธิบายว่าไม่ได้มีการตัดบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ออกจากกระบวนการพัฒนา แค่หลีกทางให้มีการปรับด้านการบริหารเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกระทรวงคมนาคมพม่าให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอีเลฟเวนมีเดียว่าการตรวจสอบงบที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ใช้ไปในโครงการนี้ จะแล้วเสร็จเดือนส.ค. โดยบริษัทเอิร์นส์แอนด์ยังรับหน้าที่ตรวจสอบดังกล่าวเพื่อประเมินว่ารัฐบาลพม่าต้องชำระเงินคืนเป็นจำนวนเท่าไรหลังจากบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลีกทางไป
บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์กล่าวว่าได้ลงทุนไปประมาณ 190 ล้านดอลลาร์ ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและคาดว่าจะได้เงินคืนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย
นายเซตอ่อง ชี้ว่ารูปแบบการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะแตกต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ โดยจะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนเพราะเป็นโครงการใหญ่ เขาเสริมว่าการคัดเลือกผู้พัฒนาสำหรับโครงการนี้ในขั้นต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะมีผลกระทบถึงการตัดสินใจของผู้พัฒนารายอื่นๆ ว่าจะเข้าร่วมโครงการในเฟสต่อไปหรือไม่
"ปีติพงศ์"เตรียมล็อบบี้อาเซียนเก็บสต็อกยาง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน วันที่ 24-25 ก.ย. นี้ที่ประเทศพม่า จะมีการหยิบยกข้อตกลงเดิมขึ้นมาหารือ และวัตถุประสงค์ของกระทรวงเกษตรฯต้องการหารือนอกรอบกับประเทศผู้ผลิตยางทั้งหมด เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันกรณีราคาในขณะนี้ล้นตลาดและแนวโน้มจะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯมีแนวคิดว่า ทุกประเทศควรมีระบบการค้าร่วมกันเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการตลาด รวมทั้งเก็บสต็อกยางร่วมกัน เนื่องจากอาเซียนเป็นผู้ผลิตยางมากที่สุดในโลก
"ผมต้องการคุยเรื่องนี้ แต่ในกรณีที่รัฐมนตรีประเทศอื่นไม่พร้อม ก็ต้องหาเวลาไปหารือร่วมกัน ซึ่งกระทรวงฯจะต้องผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ เนื่องจากเป็นแนวทางเดียวที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับราคายางได้ ส่วน กรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปพม่า ด้วยนั้น ผมไม่ได้ฝากอะไรไป คิดว่าท่านน่าจะรู้ว่าไทยต้องการอะไรบ้าง" นายปีติพงศ์ กล่าว
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน ครั้งนี้ฝ่ายไทยจะเสนอให้มีการต่อสัญญา ด้านการผลิตสินค้า มันสำปะหลัง และหม่อนไหมออกไปอีก 5 ปี จากที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุดในปีนี้ โดยประเทศที่เป็นผู้นำในแต่ละสินค้าจะมีการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านการตลาด วิชาการและการแปรรูป ที่แต่ละประเทศสามารถใช้เป็นแผนนำร่องได้
นอกจากนี้ จะหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์และสุขอนามัยพืช (SPS) ระหว่างจีนและอาเซียน+ 3 ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของมาตรฐานให้มากยิ่งขึ้น