พม่ายันเขตเศรษฐกิจเมียวดีคืบ 30% ทุนจีนพร้อมเปิดบริการปลายปีนี้
พม่ายันเขตเศรษฐกิจเมียวดีคืบ 30% ทุนจีนพร้อมเปิดบริการปลายปีนี้ |
โดย ผู้จัดการรายวัน |
15 สิงหาคม 2550 18:28 น. |
 |
 |
|
นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก และพ.ต.อองซูติน ผู้อำนวยการการค้าชายแดนเมียวดี จับมือทักทายกันก่อนเปิดการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่าด้านเศรษฐกิจ อย่างไม่เป็นทางการร่วมกันที่เมียวดี ประเทศพม่า | |
 | ตาก - พม่ายันโปรเจกต์ "เขตเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี" เดินหน้าไปแล้วกว่า 30% ทุนจีนในพม่าพร้อมเปิดบริการเต็มที่ปลายปีนี้ พร้อมตั้งวงถกตัวแทนรัฐ/เอกชนไทยอย่างไม่เป็นทางการ ขอไทยเปิดช่องนำเข้าสินค้าพม่ามากขึ้น -ปรับลดภาษี มุ่งหน้าพัฒนาการค้าในระบบผ่านสะพานมิตรภาพฯมากขึ้น ขณะที่กำหนดการฉลองครบรอบ 10 ปีสะพานข้ามน้ำเมย/แผนซ่อมใหญ่ยังไร้ข้อสรุป ผอ.การค้าชายแดนเมียวดีอ้างหน่วยเหนือยังไม่ไฟเขียว นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทยพม่า ด้านเศรษฐกิจ ที่มีขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ที่จังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ว่า ตัวแทนฝ่ายไทยประกอบด้วย ตัวเขาเองในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดตาก นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก เกษตรกรและสหกรณ์จังหวัดตาก และฝ่ายพม่านำโดย พ.ต.อองซูติน ผู้อำนวยการการค้าชายแดนเมียวดี และนางตินติน มิ้น ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี พร้อมด้วยนักธุรกิจชาวไทยและพม่ากว่า 10 ราย ที่ประชุมได้หารือกันในหลายปัญหา ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่ คือ ประเด็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ที่ฝ่ายพม่าต้องการให้ไทยนำเข้าสินค้ามากขึ้น และลดภาษีนำเข้าลงกว่าเดิม ซึ่งในที่ประชุม พ.ต.อองซูติน ได้ชี้แจงว่า ด่านการค้าแม่สอด-เมียวดี ถือว่าเป็นด่านสำคัญของไทยและพม่า เนื่องจากมียอดการค้าชายแดนนับหมื่นล้านบาท มากกว่าด่านอื่นๆ โดยพม่าเองกำลังส่งเสริมการค้าในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการเปิดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของพม่า ก็คือการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจชายแดนของพม่าที่ได้เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับการพาณิชย์ประมาณ 400 เอเคอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอีกกว่า 500 เอเคอร์ ห่างจากตัวเมืองเมียวดี เข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร โดย พ.ต.อองซูติน ผู้อำนวยการการค้าชายแดนเมียวดี ยืนยันว่า การก่อสร้างศูนย์ ONE STOP SERVICE และอาคารพาณิชย์ดำเนินการไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
|
|
พื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจชายแดนของพม่า ที่เริ่มมีการก่อสร้างอาคารต่างๆบ้างแล้ว | |
 |
 | พ.ต.อองซูติน ได้ยืนยันอีกว่า ตอนนี้มีนักธุรกิจชาวจีนในพม่ารายใหญ่ของประเทศ พร้อมที่จะเปิดกิจการในเขตเศรษฐกิจชายแดนดังกล่าวในช่วงปลายปีนี้ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยอีกว่า พ.ต.อองซูติน ได้ขอความช่วยเหลือจากไทย ว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการค้าชายแดนพม่า ว่าไทยเก็บภาษีนำเข้าบางอย่างแพงเกินไป เช่น หวาย และไม้ไผ่ เรียกเก็บที่ 30 เปอร์เซ็นต์ กุ้ง ปูปลา อาหารทะเล เก็บ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถั่วดำ และถั่วแขกจากพม่า เก็บสูงถึง กก.ละ 1 บาท แต่ตามข้อมูลของทางการไทยกลับพบว่า ไม่มีการนำเข้าหวายและไม้ไผ่จากพม่าแต่อย่างใด "กรณีนี้เราจะรวบรวมปัญหาเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ก็ไม่แน่ใจว่า จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยนำเสนอมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ยังไม่มีความคืบหน้าเหมือนเดิม" นายอำพล อธิบายว่า พม่าต้องการให้ไทยลดกำแพงภาษีให้น้อยลงและส่งเสริมการนำเข้าให้มากกว่านี้ เพื่อลดการขาดดุล แต่ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่เมื่อพม่าขายสินค้าก็จะนิยมซื้อของจากไทยกลับประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการชายแดนไทยพม่า ด้านเศรษฐกิจ ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เพิ่มขอบเขตมากขึ้นกว่าเดิมจาก 1 วันเป็น 3 วัน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวพม่า เดินทางมาเที่ยวยังพื้นที่ชั้นในมากกว่าเดิม โดยเป้าหมายส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพบปะกัน ระหว่างนักธุรกิจไทยและพม่า เช่น การพบปะตีกอล์ฟ ที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก และนักท่องเที่ยวไทยก็จะสามารถเดินทางโดยรถยนต์ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในพม่ามากขึ้น จนถึงเมืองมะละแหม่ง แต่ประเด็นนี้ทางการไทยยังไม่มีความคืบหน้า ส่วนฝ่ายพม่าเอง ก็ระบุถึงความไม่พร้อมในด้านความปลอดภัย อันเนื่องมาจากสถานการณ์ภายในประเทศ ประเด็นนี้ยังหมายรวมถึงงานเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีสะพานมิตรภาพไทยพม่า ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ โดย พ.ต.อองซูติน ชี้แจงว่า ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน สะพานมิตรภาพไทย-พม่า นั้นถือว่าเป็นเส้นทางเชื่อมเครือข่าย Asian High Way เส้นทาง A 1 ซึ่งสะพานมิตรภาพฯแห่งนี้เป็นเส้นทางส่งออกสินค้าไปยังพม่ามีมูลค่าปีละกว่า 12,000-13,000 ล้านบาท มีพิธีวางศิลาฤกษ์และลงนามก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2537 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2540 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 15 กรกฎาคม 2540 ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ 10 นับว่าเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของมิตรภาพไทย-พม่า ที่มีร่วมกัน ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวอีกว่า ปัญหาสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เส้นทางเชื่อมแม่สอดเมียวดี ชำรุดที่ฐานรากและรอยต่อสะพานเมื่อปี 2549 และได้มีการตกลงซ่อมสะพานโดยฝ่ายไทย แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากรมทางหลวงไทยพร้อมที่จะดำเนินการซ่อมใหญ่แต่ทางการพม่าไม่อนุญาต เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติดำเนินการจากรัฐบาลกลาง ทำให้ต้องขนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือกลับ
| | |