สสว.ชี้ SMEs ยังแจ๋วโชว์ตัวเลข จ้างงาน-ส่งออกโตต่อเนื่อง
สสว.ชี้ SMEs ยังแจ๋วโชว์ตัวเลข จ้างงาน-ส่งออกโตต่อเนื่อง |
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ |
17 สิงหาคม 2550 11:18 น. |
 |
สสว. เผยรายงาน SMEs ชี้ปัจจัยลบยังเป็น ค่าเงิน-ดอกเบี้ย-ราคาน้ำมันที่ผู้ประกอบการต้องเสี่ยง ส่วนยอดการจ้างงานกลับพุ่งต่อเนื่องถึง 9.2ล้านคน ด้านส่งออกไม่น้อยหน้าปีนี้ขยายตัวกว่า 13% ด้วยมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้าน พร้อมเตือนภัย สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม-หนัง-ไม้- ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ระวังเจ๊ง.! ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2550 ธุรกิจ SMEs ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้เพราะสายป่านด้านการเงิน ด้านการลงทุนใหม่ หรือแม้กระทั่งการส่งออก ภาคธุรกิจSMEs ก็ส่งออกได้น้อยลงจนทำให้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่ไม่ได้ทยอยปิดกิจการไปมากมายในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือ SAW ได้ทำการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงสำหรับ SMEs ในการประกอบธุรกิจปี 2550 ยังเป็นปัจจัยเดิมๆ โดยค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน สถานการณ์ความไม่สงบ การแข่งขันทางธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องประสบในช่วงที่ผ่านมา ชี้ SMEs จ้างงานเพิ่ม 9 ล้านราย นอกจากนี้ SMEs มีความกังวลกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกในช่วงที่ผ่านมาแต่โดยพื้นฐานพบว่าในปี 2549 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.269 ล้านรายหรือคิดเป็นสัดส่วน 99.53% จากจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของไทยก่อให้เกิดการจ้างงาน 8.884 ล้านคน หรือ 75.44% จากการจ้างงานทั้งระบบนั้น ยังสามารถสร้างมูลค่าตลาดจากรายได้รวมได้ถึง 5.403 ล้านล้านบาทคิดเป็น 40.82% จากทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นการส่งออก 1.434 ล้านล้านบาทหรือ 29.01% จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย โดยรายงานการศึกษาได้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2550 นี้จำนวน SMEs น่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.52% หรือจาก 2.269 ล้านรายเป็น 2.395 ล้านราย โดยก่อให้เกิดอัตราการขยายตัวด้านการจ้างงานประมาณ 3.86% หรือจากการจ้างงาน 8.884 ล้านคนเป็น 9.227 ล้านคน ส่งออกปีนี้แตะ 1.6 ล้านล้าน ขณะที่การส่งออก ปี 2550 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าประมาณ 1.623 ล้านล้านบาทโดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 13.15% นั้นจากตัวเลขล่าสุดตลอดจนผลกระทบจากค่าเงินบาทพบว่า SMEs ยังมีขีดความสามารถในการส่งออกในระดับที่น่าพอใจโดยจากข้อมูลแนวโน้มไตรมาส 3 นี้พบว่า SMEs น่าจะมียอดการส่งออกจนถึงสิ้นปี 2550 ประมาณ 1.612 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวประมาณ 12.36% จากปี 2549 และแม้ว่าการคาดการณ์จะมีการปรับฐานลดลง แต่โดยรวมแล้วถือว่า SMEs มีขีดความสามารถด้านการส่งออกดีกว่าปี 2549 ที่ผ่านมาหรือที่เคยทำได้เพียง 1.434 ล้านล้านบาทโดยมีอัตราการขยายตัว 9.06% เท่านั้น ในส่วนอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องระวังเป็นพิเศษในปี 2550 จนถึงต้นปี 2551 ประกอบไปด้วย สาขา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ธัญพืชข้าวแป้ง แก้วและเซรามิกส์ และเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้เพราะผลการประกอบการของ SMEs อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องระวังทุกมิติ เช่นเดียวกันกับ บริการเสริมสร้างสุขภาพสปาและสังคม และโรงแรมภัตตาคารขนาดเล็ก ในสาขาธุรกิจการค้าและการบริการ ผู้ประกอบการต้องปรับเพื่อยู่รอด.! SAW ได้แนะนำผู้ประกอบการอีกว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 4 เดือนผู้ประกอบการSMEs ที่อยู่ในสาขาที่ต้องระวังตนเองต้องเร่งปรับตัวในระยะสั้นด้วยการเร่งตรวจสอบหาจุดอ่อนของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการลดจำนวนของเสีย ในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นการลดต้นทุนที่จะสามารถทำได้ก่อนและเพื่อการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยความพึงพอใจกับคุณภาพที่สม่ำเสมอ หลังจากนั้นต้องเร่งดำเนินในหลาย ๆด้าน เช่นการพัฒนาสินค้าด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจูงใจลูกค้าหรือการกระตุ้นการซื้อทั้งในและต่างประเทศ ,สร้างแบรนด์เนม เพื่อการเปลี่ยนสถานะจากรับจ้างผลิตเป็นผู้ผลิต ,ปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อให้มีความเหมาะสมกับมาตรฐานด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
| | |