สัมภาษณ์ : เปิดร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกฉบับสนช. จำกัดรายใหญ่ผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์
ปัญหาธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน นับวันจะขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ หลายฝ่ายเห็นว่าทางออก คือ การออกกฎหมายมาบังคับใช้ เพื่อจัดระเบียบการทำธุรกิจให้อยู่ร่วมกันได้ ระหว่างโมเดิร์นเทรด และโชห่วย ในระหว่างที่รอกฎหมายจากภาครัฐ ที่ยังอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วนเห็นว่าล่าช้า จึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฉบับ สนช.ขึ้น และต่อไปนี้เป็นมุมมองของผู้เสนอกฎหมาย
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สมาชิก สนช.ที่มาจากหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่าควรมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง เพื่อมาแก้ปัญหาธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน โดยขณะนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ดังกล่าวที่มีทั้งหมด 48 มาตรา ไปยังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา
สาระหลักของร่างที่เสนอโดย สนช. ในมาตรา 4 เป็นการกล่าวถึง คำจำกัดความของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งหมายถึงธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ส่วนบุคคล หรือใช้ในครัวเรือน หรือชีวิตประจำวันและเป็นการค้าปกติ และเพื่อประโยชน์การบังคับใช้กฎหมายและการควบคุมตาม พ.ร.บ.นี้ ให้รวมถึงการบริการ ไม่ว่าเป็นการรับฝากขาย การให้เช่าพื้นที่วางขายหรือให้บริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการค้าปลีกค้าส่ง และให้หมายรวมถึงกิจการค้าปลีกค้าส่งประเภทอื่น ที่ออกโดยกฎกระทรวง
มาตรา 14 คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการและแผนการจัดระบบการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยการแยกกำหนดระยะห่างพื้นที่ ที่ประกอบธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายเล็กที่ไม่มีสาขา กับผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ที่มีสาขา การป้องกันและบรรเทาปัญหาของผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายเล็กที่ไม่มีสาขา
มาตรา 34(1) ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งผลิตสินค้า เพื่อขายอันเป็นสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายหรือแข่งขันกับสินค้าและบริการของคู่ค้า และเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้หมายรวมถึงการซื้อสินค้าจากบริษัทในเครือหรือจากผู้ที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีอำนาจควบคุมไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมเพื่อขาย และมาตรา 34/2 ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและปฏิบัติต่อคู่ค้า ด้วยความเสมอภาค ทั้งนี้ให้คำนึงถึงสภาพการแข่งขันของตลาดด้วย
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเป้าหมายดูแลให้ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่และผู้ค้าปลีกรายย่อยสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ โดยในคำนิยามได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งครอบคลุม ถึงกิจการใดบ้างเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกำหนดให้มีการออกฎกระทรวงยกเว้นธุรกิจที่กฎหมายไม่มีผลบังคับ เช่น ขายยา หนังสือ สินค้าโอท็อป
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายที่เสนอกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการสรรหา กกค. เหมือนร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่งของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อไม่เกิดปัญหาการสรรหามีความล่าช้า โดย กกค.จะมีอำนาจพิจารณาอนุมัติการขยายสาขาของห้างค้าปลีกรายใหญ่ ประกาศธุรกิจที่ต้องยกเว้น และออกระเบียบกฎเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ไม่สามารถระบุรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ได้
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดแนวทางบริหาร ความสัมพันธ์ของห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่ตั้งมาแล้ว ก่อนกฎหมายบังคับใช้กับร้านค้าปลีกรายย่อย เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ขนาด สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยร่างกฎหมายไม่สามารถกำหนดให้ห้างค้าปลีกลดขนาดลง แต่กำหนดให้ห้างค้าปลีกจำหน่ายสินค้า ให้กับร้านค้าปลีกรายย่อยในจุดที่ห่างไกลหรือไม่มีความเหมาะสมที่จะไปตั้งสาขา แต่ไม่บังคับใช้กับทุกราย แต่จะใช้วิธีแบบสมัครใจ เพื่อเป็นการคานอำนาจ ระหว่างผู้ค้าส่งกับห้างค้าปลีก
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ กล่าวว่า หากที่ประชุม สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งของสมาชิก สนช. จะทำให้ ครม.ต้องรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปพิจารณาภายใน 30 วัน ซึ่งอาจจะนำร่างกฎหมายของ สนช.ไปรวมกับร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ของกระทรวงพาณิชย์ก็ได้
ทั้งนี้ หากไม่มีกฎหมายค้าส่งค้าปลีกออกมาบังคับใช้ เชื่อว่าจะเกิดความรุนแรงจากผู้ค้าปลีกรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของห้างค้าปลีก โดยที่ผ่านมามีการขู่วางเพลิงห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ขยายสาขาไปทั่วประเทศ
นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะสมาชิก สนช. กล่าวว่า รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ของสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่คล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ร่าง สนช.ต้องการให้ผู้ประกอบการค้าปลีก ดำเนินธุรกิจค้าปลีก หรือซื้อมาขายไปอย่างเดียว
ส.อ.ท.ต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ห้ามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ผลิตสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ลักษณะคล้ายกับแบรนด์ของซัพพลายเออร์ที่ติดตลาดไปแล้ว โดยห้ามถึงบริษัทในเครือหรือบริษัทที่ห้างค้าปลีกมีหุ้นส่วนผลิตสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์ เพราะในต่างประเทศ มีห้างค้าปลีกผลิตสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์ และทำให้ผู้ผลิตสินค้ารายอื่นไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ทั้งนี้ หากไม่มีการควบคุมสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์ จะทำให้ในระยะยาวสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์จะมียอดจำหน่ายสูงกว่า เพราะห้างค้าปลีกจะสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์น้อยลง ในระยะยาวเมื่อสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์ติดตลาดแล้ว จะมีผลให้ห้างค้าปลีกสามารถกำหนดราคาหรือปรับราคาได้ตามต้องการ ท้ายที่สุดจะได้รับผลกระทบทั้งซัพพลายเออร์ภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค
ส.อ.ท.ต้องการให้บัญญัติประเด็นสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์เข้าไปในร่างกฎหมายเลย เพราะไม่ต้องการรอให้ กกค.มาเป็นผู้กำหนดว่าห้างค้าปลีกไม่สามารถผลิตสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์ได้ และเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว กกค.อาจจะไม่นำประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา หรือไม่กล้าออกประกาศห้ามห้างค้าปลีกผลิตสินค้าเฮ้าส์ แบรนด์
ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ยังกำหนดให้ควบคุมร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ที่มีสาขาจำนวนมากหรือร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ใช้แบรนด์เนม (แฟรนไชส์) ของผู้อื่น เพราะการขยายตัวของร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วไป ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Tuesday, August 21, 2007 02:12