ตราด... เปิดประตูสู่อินโดจีน เชื่อมถนนหมายเลข 48 กัมพูชา ดึงเม็ดเงินธุรกิจ-ท่องเที่ยวสะพัดหมื่นล้าน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดนและยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กำหนดให้จังหวัดตราดเป็นประตูสู่ อินโดจีน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา นายบุญช่วย เกิดสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดน และยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด การเป็นพันธมิตรกับภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับปี 2547-2549 รัฐบาลไทยได้สนับสนุนโครงการก่อสร้างโครงข่ายด้านการคมนาคมขนส่งกับประเทศกัมพูชาด้านจังหวัดตราดหลายโครงการ ทั้งการก่อสร้างถนน และการก่อสร้างสะพานในประเทศกัมพูชาเพื่อเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงจากประเทศไทยไปสู่อินโดจีน
เปิด 2 เส้นทางเชื่อมกัมพูชา
"เส้นทางเศรษฐกิจแนวใต้" คือ เส้นทางการพัฒนาทางหลวงระหว่างประเทศเชื่อมต่ออินโดจีน บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยและกัมพูชา ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของโครงการ GMS (Greater Menong Subregion) มี 2 เส้นทาง คือ ถนนสาย R 1 ที่เริ่มจากกรุงเทพฯ-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ/ปอยเปต (หรือกรุงเทพฯ- แหลมฉบัง-สระแก้ว-อรัญประเทศ-ปอยเปต)/ ศรีโสภณ-พนมเปญ-บาเวท-มอดไม้-โฮจิมินห์-วังเตา โดยมีจุดผ่านแดนที่อรัญประเทศ (ไทย)/ปอยเปต (กัมพูชา)
อีกสายหนึ่ง คือ ถนนเลียบชายฝั่งใต้สาย R 10 เป็นถนนสายใหม่ที่ถูกสร้างโดยมีวัตถุประสงค์ ด้านเศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งถนนสายนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนสายเอเชีย (Asia Highway Network) ซึ่งจะเชื่อมระหว่างท่าเรือทวาย (พม่า) ท่าเรือแหลมฉบัง (ไทย) และ ท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา)
เส้นทาง R 10 นี้ เชื่อมต่อระหว่างชายแดนไทยกับสะแรอัมเบิล โดยผ่านทางเกาะกง กัมพูชา เส้นทางเริ่มจากกรุงเทพฯ-ตราด (หาดเล็ก)-กัมพูชา (290 กิโลเมตร) แซมแยม-เกาะกง- สะแรอัมเบิล (151 กิโลเมตร)-กัมพูชา-ลอก/ ฮาเตียน-คามเมา-ทามดาน (เวียดนาม) โดยมี จุดผ่านแดนที่บ้านหาดเล็ก (ไทย)/แซมแยม (กัมพูชา)
เส้นทางสาย R 10 หรือเส้นทางหมายเลข 48 เริ่มจากแซมแยม-เกาะกง-สะแรอัมเบิล ของกัมพูชานี้ เมื่อปี 2544-2546 กองทัพไทยได้ส่งทหารช่างช่วยปรับปรุงเส้นทางถนนลูกรังแบบให้เปล่า ต่อมาในปี 2547 จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย โดยอนุมัติให้กัมพูชากู้เงินดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 827.4 ล้านบาท เพื่อสร้างถนนผิวทางแอสฟัลต์และช่วยสนับสนุนสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแบบให้เปล่าบนถนนสายนี้อีก 4 แห่ง โดยกรมทางหลวงออกแบบให้และใช้งบประมาณ 288.2 ล้านบาท การก่อสร้างถนนและสะพานทำสัญญาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2548 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2550 โดยบริษัท สหการวิศวกร จำกัด แต่เกิดปัญหาล่าช้าจนต้องต่อสัญญาออกไปถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2550 ส่วนการก่อสร้างถนนแม้ว่าจะยังไม่เรียบร้อย 100% แต่รัฐบาลกัมพูชาได้รับมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว
ก่อสร้างคืบกลางปีหน้าเปิดใช้
นายธนิต สากิยะ ผู้อำนวยการแขวงการทางตราด กล่าวว่า ถึงเดือนกรกฎาคม 2550 งานก่อสร้างสะพาน 4 แห่ง ผลงานก่อสร้างรวม 62.71% แผนงานก่อสร้างรวม 71.22% ช้ากว่าแผนงาน 8.51% โดยสะพานที่ 1 สะแรอัมเบิล ยาว 420 เมตร ผลงานก่อสร้างปัจจุบัน 94.60% สะพานที่ 2 อันโดงตึก ยาว 270 เมตร ผลงานก่อสร้าง 13.92% สะพานที่ 3 ตรอเปียงรุง ยาว 480 เมตร ผลงานก่อสร้าง 55.76% สะพานที่ 4 พุมดวง (ตาไต) ยาว 390 เมตร ผลงานก่อสร้าง 86.60% สาเหตุก่อสร้างสะพานล่าช้าเพราะเจอสภาวะน้ำท่วมหนักและพื้นที่ทำให้ก่อสร้างล่าช้ามาก อย่างไรก็ตามคาดว่าเดือนพฤษภาคม 2551 จะเปิดใช้ได้
ส่วนโครงการก่อสร้างทางหมายเลข 48 (เกากง-สะแรอัมเบิล) กัมพูชา ระยะทางรวม 151.4 กิโลเมตร ผลงานก่อสร้างถึงเดือนกรกฎาคม 2550 100% และผู้รับจ้างได้ส่งงานให้กับรัฐบาลประเทศกัมพูชาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 โดยถนนที่ก่อสร้างจะแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 (สะแรอัมเบิล) ระยะทาง 12.4 ก.ม. ช่วงที่ 2 (อันโดงตึก) ระยะทาง 36.4 ก.ม. ช่วงที่ 3 (ตรอเปียงรุง) ระยะทาง 40.2 ก.ม. ช่วงที่ 4 (พุมดวง หรือตาไต) ระยะทาง 39.8 ก.ม. และช่วงที่ 5 (เกาะกง) ระยะทาง 19 กิโลเมตร
"ช่วงแรกจะมีลักษณะโค้งมากเพราะมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่จากประชาชน เส้นทางไปสะพาน 4 เป็นภูเขา คดเคี้ยว แม้ว่าบริษัทก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ทางรัฐบาลกัมพูชาเซ็นรับงานไปเรียบร้อยแล้ว แต่เหลือเพียงงานเล็กๆ น้อยๆ" นายธนิตกล่าวและว่า
ทั้งนี้หากถนนสาย 48 เสร็จสามารถเดินทางจากบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ ถึงพนมเปญได้โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ
คาดนักท่องเที่ยวทะลัก 1 ล้านคน
ทางด้านนายบุญช่วย เกิดสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ยุทธศาสตร์ของจังหวัดได้กำหนดการพัฒนาให้ จ.ตราด เป็นประตูสู่อินโดจีน เมื่อมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา ก่อสร้างถนนสาย 48 ที่จะเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม ได้พยายามดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการรองรับการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยมีแผนที่ขยายเส้นทางตราด-คลองใหญ่-หาดเล็ก (หมายเลข 318) ระยะทาง 90 กิโลเมตร ให้เป็นสี่ช่องจราจร มอบให้กรมทางหลวงรับผิดชอบ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 640 ล้านบาท โครงการผูกพันงบประมาณ 2 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550-2551 โดยปี 2550 อนุมัติวงเงินไว้ 100 ล้านบาท ขยายเส้นทางบ้านหาดเล็ก-คลองใหญ่ ปีงบประมาณ 2551 ดำเนินการในส่วนที่เหลืออีก 512 ล้านบาท หรืออาจจะเป็นงบประมาณผูกพัน 2 ปี
นอกจากนี้ ด่านศุลกากรแห่งใหม่แบบมาตรฐานสากลได้ก่อสร้างเสร็จพร้อมที่จะให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ได้ร่วมมือการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีสำรวจ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 500 ตันกรอส ที่ อ.คลองใหญ่ ที่สามารถขนส่งเชื่อมโยงเวียดนาม ภูมิภาคอินโดจีน
"หากก่อสร้างถนนสาย 48 เสร็จ ก่อสร้างถนนหมายเลข 318 เป็นสี่ช่องจราจรเสร็จ 5 ปี ตราดจะมีความสำคัญเป็นประตูเข้า-ออกของ อินโดจีนอย่างแท้จริง เพราะเส้นทางสาย R 10 จะเชื่อมต่อไปถึงเวียดนามตอนใต้ ตาม
โครงข่ายถนนสายเอเชียด้วย ในอนาคตเร็วๆ นี้ เส้นทางสายนี้จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
นอกจากจะมีความสำคัญด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะมีการขนส่งสินค้าจากแหลมฉบังผ่าน จ.ตราด ไปพนมเปญที่สะดวก ระยะเวลา 3-4 ชั่วโมง หรือแยกไปท่าเรือสีหนุวิลล์ ที่สำคัญเป็นเส้นทางที่รองรับการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 700,000 คน ในปี 2549 เป็น 1 ล้านคนขึ้นไป นอกเหนือจากมูลค่าการค้าชายแดนจากที่มีมูลค่าสูงถึง 13,200 ล้านบาทเศษ จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน" ผวจ.ตราดกล่าว
ค้าชายแดนเพิ่ม 15%
ทางด้าน นายดำริ จุลวัฒฑะกะ พาณิชย์จังหวัดตราด เห็นว่า เมื่อเส้นทางเสร็จเรียบร้อย จะมีผลต่อการขนส่งสินค้าออกไปกัมพูชาอย่างมาก คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนน่าจะเพิ่มขึ้น 10-15%
สอดคล้องกับ นายสุพจน์ เลียดประถม ประธานหอการค้า จ.ตราด ที่ระบุว่า การเติบโตทางด้านการค้าชายแดนจะเพิ่มขึ้นเพราะผู้ประกอบการจะหันมาใช้ทางรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากความสะดวกรวดเร็ว โดยขณะนี้หอการค้าได้ทำข้อตกลง (MOU) กับหอการค้าในจังหวัดต่างๆ ในกัมพูชาถึง 8 จังหวัดแล้ว
สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนได้พัฒนาพื้นที่บริเวณเส้นทาง 318 ไปบ้างแล้ว ทั้งตลาดชายแดน โรงแรม รีสอร์ต บริเวณชายหาดที่ผุดขึ้นเป็นระยะตลอดเส้นทาง คาดว่าคงมีการพัฒนาและเพิ่มการลงทุนมากขึ้น พร้อมๆ กับมูลค่าที่ดิน 2 ข้างทางพุ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ
ทั้งหมดนี้คือความพร้อมต่อการเปิดประตูสู่ อินโดจีนของ จ.ตราด
Source - เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Thursday, September 13, 2007 04:44