ผลการประชุมสัมมนาโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดตากและผลกระทบสิ่งแวดล้อม(5ก.ย.2549)
ผลการประชุม
สัมมนาโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดตาก
และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
วันที่ 5 กันยายน 2549
ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซ็นทรัลแม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด จ.ตาก
แม่สอด-แม่ระมาด-และพบพระ เป็น 3 ใน 8 อำเภอ 1 กิ่งของจังหวัดตาก ที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า และเป็นอำเภอสำคัญที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน และกำลังรอกฎหมายรองรับก่อนประกาศใช้ อย่างเป็นทางการ และในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ การจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ซึ่งกำลังหาพื้นที่ 3 แห่ง โดยมีพื้นที่บ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด และตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด มีศักยภาพสูงสุด เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์หรือแผนที่ว่างไว้ได้รวดเร็ว ทุกฝ่ายต้องมองทุกแง่มุมและสิ่งสำคัญ ต้องบอกกับประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ด้วยความชัดเจน ชาวบ้านได้อะไรจากเขตนิคมอุตสาหกรรม
ผู้เข้าร่วมประชุม นายนิยม ไวยรัชพานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดตาก
นายปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมหอการค้าจังหวัดตาก
นายศุภมาตร เกษม กรรมการที่ปรึกษา
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก
นายวีระ สดมพฤกษ์ ประชาสัมพันธ์หอการค้าจังหวัดตาก
นายวิวัฒ เมธีวรรณกิจ นายอำเภอแม่สอด เป็นประธานเปิดการประชุม
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการนักธุรกิจ พ่อค้า ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมทั้งประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สอด แม่ระมาด และพบพระ เข้าร่วมประชุม ครั้งนี้ได้มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายและเน้นย้ำความชัดเจนมากกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมา
นายอำเภอ : กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ประกาศกฎหมายจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดเมียวดีไปแล้ว
นายปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก แกนนำกลุ่มประชาคมชายแดนจังหวัดตาก กล่าวว่า
1) จะต้องจัดสัดส่วนการลงทุนและการถือหุ้นให้ชัดเจนและเท่าเทียมตามความจริงและต้องระวังทุนต่างชาติ และทุนส่วนกลาง โดยทุนต่างชาติต้องไม่เกิน 30 % โดยให้รัฐถือครองมากที่สุด ส่วนที่เหลือให้นักธุรกิจท้องถิ่นลงทุน
2) มีการวางผังเมืองใหม่และศึกษาพื้นที่สร้างเมืองใหม่แม่สอด เป็นเมืองใหม่ รองรับความเจริญที่จะขยายตัวขึ้นและที่สำคัญ คือการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 (สะพานมิตรภาพไทย-พม่า) ต้องสร้างในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเส้นทางเชื่อมโยง การขนส่ง
นายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดน หอการค้าไทย กล่าวว่า
เมื่อพม่าได้จัดตั้งจังหวัดเมียวดีเป็นนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ไทยควรศึกษากรอบของฝ่ายพม่าเพราะมีชายแดนติดต่อกัน ต้องให้สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกัน และต้องระวังเรื่องการแย่งซื้อที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม
พ.ท.เรืองเดช ฟูปินวงศ์ นายทหารประจำการอยู่ชายแดนไทย-พม่า กล่าวว่า
การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดน ต้องมองเรื่องความมั่นคง เพราะมีพื้นที่หลายแห่งแนวชายแดนเป็นเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยฝั่งพม่า ต้องวางมาตรการป้องกันแรงงานต่างด้าวให้รัดกุม และที่สำคัญคือ ปัญหายาเสพติด ที่จะตามมาเพราะหากมีการเคลื่อนย้ายสินค้า และมีการหมุนเวียนของบุคคลก็อาจจะนำไปสู่การขนยาเสพติด เนื่องจากอัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินบาทกับค่าเงินจ๊าตพม่าแตกต่างกันมาก
นายบุญเติง ธรรมใจ กำนันตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด กล่าวว่า
การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ข่าวว่าในเขตจะใช้พื้นที่ตำบลแม่ปะด้วยนั้น ได้สอบถามประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้พื้นที่ตำบลแม่ปะ เพราะจะทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป และทำลายสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมตามมามากมาย และที่สำคัญชาวบ้านไม่ได้อะไรจากจะการตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดตาก
ดร.อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าทีม กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาไป 79 % ต่อไปจะได้เร่งศึกษาในเชิงลึก และต้องมองเขตนิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียใต้ควบคู่ไปด้วยทั้งจีน-อินเดีย-พม่า-สิงคโปร์ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีทางคมนาคมร่วมกันในอนาคต สู่การเชื่อมโยงเส้นทางตะวันออก-ตะวันตก
ถึงวันนี้โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดตาก จึงเป็นประเด็นที่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำความเข้าใจและหาคำตอบให้กับชาวบ้าน ก่อนที่จะเริ่มลงเสาเข็มนับหนึ่งโครงการ
**************** |